หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/34

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๕

ถือเป็นคติเหมือนกันหมดทุกประเทศแม้จนในยุโรปว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ที่ประทานยุติธรรมแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน หรือถ้าจะว่าอย่างเข้าใจได้ง่าย ๆ พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ทรงบัญญัติให้ราษฎรประพฤติอย่างไร หรือห้ามมิให้ประพฤติอย่างไร กับทั้งเมื่อราษฎรเกิดคดีด้วยเบียดเบียนกันก็ดี หรือด้วยเกี่ยงแย่งกันก็ดี ใครนำความมากราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ๆ เป็นผู้ซึ่งจะชี้ว่า ผู้ใดผิด และบังคับให้ต้องรับโทษตามสมควรแก่ความผิดนั้น ลักษณะการเช่นนั้น พระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงปกครองพระราชอาณาเขตกว้างขวางก็พ้นวิสัยที่จะทรงปฏิบัติได้ แม้เช่นนั้น บางพระองค์ ดังเช่น พระเจ้ารามคำแหงมหาราช ก็พอพระราชหฤทัยจะประพฤติ จึงผูกกระดึงที่ประตูพระราชวัง เพื่อให้ราษฎรมาสั่นกระดึงถวายฎีกาได้ แต่ก็ได้ประโยชน์แก่ราษฎรที่อยู่ในเมืองสุโขทัย หาเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างไกลไม่ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องแบ่งพระราชอำนาจให้มีผู้อื่นช่วยในการรักษาความยุติธรรม แต่เพื่อจะเอาการนั้นไว้ให้ใกล้พระเนตรพระกรรณ จึงโปรดให้เสนาบดีกระทรวงวังซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์เป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และมีอำนาจตั้งยกกระบัตรออกไปอยู่ตามหัวเมืองเมืองละคน สำหรับบอกรายงานการรักษาความยุติธรรมในเมืองนั้น ๆ เข้ามาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบด้วย วิธีการศาลยุติธรรมแต่โบราณเป็นอย่างไร จะแสดงอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า

เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เป็นพนักงานรับจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์อันได้มาแต่ส่วยสาอาการ หรือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า