หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/35

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

ภาษีอากร เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่า กำหนดเป็น ๔ ประเภท เรียกว่า จังกอบ ประเภท ๑ อากร ประเภท ๑ ส่วย ประเภท ๑ ฤชา ประเภท ๑ อธิบายมีอยู่ในกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญบ้าง ในลักษณะอาญาหลวงบ้าง อยู่ในหนังสือมองสิเออเดอลาลูแบร์ราชทูตฝรั่งเศสแต่งบ้าง จะรวมมาชี้แจงเป็นสังเขป

ที่เรียกว่า จังกอบ นั้น คือ เก็บชักสินค้าเป็นส่วนลด หรือเก็บเงินเป็นอัตราตามขนาดยานพาหนะซึ่งขนสินค้าเมื่อผ่านด่านขนอน ประเพณีเก็บจังกอบเห็นจะมีมาแต่ก่อนไทยได้เป็นใหญ่ในประเทศไทย ด้วยปรากฏในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชว่า โปรดเลิกจังกอบในเมืองสุโขทัย แต่ภาษีอากรอย่างอื่นประเภทใดจะตั้งเมื่อใดไม่ทราบแน่

ที่เรียกว่า อากร นั้น คือ เก็บชักส่วนผลประโยชน์ซึ่งราษฎรทำมาหาได้ด้วยประกอบการต่าง ๆ เช่น ทำเรือกสวน เป็นต้น หรือโดยได้รับสิทธิจากรัฐบาล เช่น อนุญาตให้ขุดหาแร่และเก็บของในป่า หรือจับปลาในน้ำ หรือต้มกลั่นสุรา เป็นต้น

ที่เรียกว่า ส่วย นั้น คือ ยอมอนุญาตให้บุคคลบางจำพวกส่งสิ่งของซึ่งรัฐบาลต้องการใช้ แทนแรงคนที่จะต้องเข้ามาประจำทำราชการโดยเหตุดังกล่าวมาแล้วที่อื่น

ที่เรียกว่า ฤชา นั้น เรียกจากการต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้เฉพาะตัวบุคคล คือ ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ค่าธรรมเนียม ตลอดจนเบี้ยปรับ ก็พระราชทรัพย์ที่ได้นั้นเป็นตัวเงินบ้าง เป็นสิ่งของ