หน้า:ลักษณะการปกครองฯ - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/47

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๘

ที่ใช้ขึ้นใหม่เป็นภาษาสันสกฤตซึ่งใช้มาแต่เดิม เห็นได้เป็นสำคัญ ส่วนสงฆมณฑลนั้น เมื่อผู้คนนับถือลัทธิลังกาวงศ์มากขึ้น แม้ในประเทศไทยพระเจ้าแผ่นดินมิได้บังคับให้พระสงฆ์นิกายเดิมบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์เหมือนอย่างเช่นบังคับในประเทศรามัญก็ดี เมื่อจำเนียรกาลนานมา พระสงฆ์ที่ถือลัทธินิกายเดิมก็น้อยลงทุกที จนที่สุดรวมเป็นนิกายเดียวกัน (คือ ที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่า "มหานิกาย") ถึงกระนั้น ลักษณะการที่จัดสงฆมณฑลแต่โบราณก็ยังปรากฏเค้าเงื่อนอยู่ตามเรื่องตำนานที่กล่าวมาที่แบ่งเป็น "คณะเหนือ" คือ พวกนิกายเดิม คณะ ๑ "คณะใต้" คือ พวกนิกายลังกาวงศ์ที่ขึ้นมาจากนครศรีธรรมราช คณะ ๑ ยังมีเค้าเงื่อนอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนพระสงฆ์นิกายธรรมยุติกานั้นเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเมื่อยังทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร เพื่อจะประพฤติพระธรรมวินัยให้ถี่ถ้วนเคร่งครัดกว่าที่พระสงฆ์ประพฤติอยู่เป็นสามัญในสมัยนั้น มีผู้เลื่อมใสบวชเรียนในสำนักพระสงฆ์ธรรมยุติกามาก จึงได้เป็นนิกายหนึ่งต่อมาจนทุกวันนี้ ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์แต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งพระเถรานุเถระให้มียศและราชทินนาม และโปรดให้มีอำนาจที่จะปกครองบังคับบัญชาพระภิกษุสงฆ์ผู้น้อย มีทำเนียบสงฆ์อยู่ส่วนหนึ่ง คล้ายกับทำเนียบตำแหน่งกระทรวงราชการฝ่ายฆราวาส คือ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นใหญ่ในสมณมณฑล รองลงมา สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ แล้วถึงพระราชาคณะ และพระครูฐานานุกรมเป็นอันดับกัน