หน้า:ลัทธิฯ (๒๑) - ๒๔๗๒.pdf/3

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ฝรั่งเศส และเจ้าพนักงานหอสมุดฯ ราชบรรณาลัยกรุงกัมพุชา ช่วยรวบรวมส่งมาให้ด้วยความเอื้อเฟื้อของสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ารู้สึกขอบพระทัยพระเจ้ากรุงกัมพุชา และขอบใจข้าราชการฝรั่งเศสกับทั้งพนักงานราชบรรณาลัยที่เมืองภนมเพ็ญด้วยเป็นอันมาก รูปที่ได้มามีจำนวนมาก เลือกเอามาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้แต่พอประมาณ ส่วนที่เหลือนั้นรวมรักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ใครปรารถนาจะดูก็ได้

การแปลต้นฉะบับภาษาเขมรเป็นภาษาไทยนั้น เดิมเมื่อครั้งข้าพเจ้าจะพิมพ์เรื่องงานพระศพสมเด็จพระศรีสวัสดิฯ ได้ให้นายฉ่ำ ทองคำวรรณ เปรียญ ผู้ช่วยบรรณารักษ์ในหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นผู้แปล แล้วทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ ทรงตรวจ ด้วยเห็นว่า เอาพระทัยใส่ทรงศึกษาทราบภาษาเขมรอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯ ไม่โปรดสำนวนที่แปลภาษาเขมรอย่างเช่นแปลภาษาฝรั่งหรือภาษาจีน ดำรัสว่า ภาษาเขมรกับภาษาไทยใกล้กันผิดกับภาษาอื่น ด้วยใช้ภาษาบาลีและสันสกฤตแซกแซงอย่างเดียวกัน และมีศัพท์ภาษาเขมรที่ไทยเอามาใช้เป็นภาษาไทยก็มาก ศัพท์ภาษาไทยที่เขมรเอาไปใช้เป็นภาษาเขมรก็มีไม่น้อย ทั้งวิธีเรียงคำเข้าเป็นประโยคก็เป็นอย่างเดียวกัน การแปลหนังสือภาษาเขมีควรจะ "ถอด" เป็นภาษาไทย คือ เป็นแต่เขียนแลปงตัวอักษรเขมรเป็นอักษรไทย แล้วเลือกแปลแต่ศัพท์ภาษาเขมรที่ไทยเราไม่คุ้นออกเป็นภาษาไทย คงศัพท์เขมรที่ไทยเราคุ้นกับทั้งประโยคความไว้อย่างเดิมทั้งหมด ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนเทียบทานให้รู้ว่า ภาษาเขมรกับภาษาไทยใกล้กันเพียงไร ทรงเสียดายด้วย