หน้า:วรรณกรรมต่างเรื่อง - ๒๕๐๕.pdf/33

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๖

คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในกระบวนแต่งกลอน จึงแต่งบทละคร ๒ เรื่องที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เรียกกันว่า เรื่องพระมะเหลเถไถ เรื่อง ๑ กับอุณรุทร้อยเรื่อง อีกเรื่อง ๑ เล่ากันมาว่า คุณสุวรรณอยู่เรือนที่แถวนอก ใครไปหา ถ้าบอกว่า อยากจะฟังบทละครที่แต่งใหม่ คุณสุวรรณก็ว่าบทละคร ๒ เรื่องนี้ให้ฟังโดยจำไว้ได้แม่นยำ ผู้ที่ได้ฟังเห็นขบขันก็พากันชอบ ที่จำได้บ้างก็มาว่าให้ผู้อื่นฟังต่อ ๆ มา เพราะฉะนั้น บทละครของคุณสุวรรณจึงแพร่หลาย พวกผู้ดีชาววังจำกันได้มากบ้างน้อยบ้างแทบจะไม่เว้นตัว แต่ที่ได้จดไว้เป็นตัวอักษรนั้นน้อยแห่ง ครั้นนานมา จึงหาฉบับยาก

คุณสุวรรณถึงแก่กรรม[1] เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕ แต่บทละครของคุณสุวรรณยังมีผู้จำได้เป็นตอน ๆ แลว่าให้กันฟังสืบต่อมา พึ่งพบฉบับที่ได้เขียนไว้ที่ได้มาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

บทละครของคุณสุวรรณที่เป็นของแปลกนั้น คือ:– บทละครเรื่องพระมะเหลเถไถ คุณสุวรรณแต่งเป็นภาษาบ้างไม่เป็นภาษาบ้างปะปนกันไปแต่ต้นจนปลาย แต่ใครอ่านก็เข้าใจความได้ตลอดเรื่อง ความขบขันอยู่ที่ตรงข้อนี้ ส่วนบทละครอุณรุทร้อยเรื่องนั้น คุณสุวรรณเกณฑ์ให้ตัวบทในละครเรื่องต่าง ๆ มารวมกันอยู่ในเรื่องเดียว ถ้าดูโดยกระบวนความ อยู่ข้างจะเลอะ แต่ไปดีทางสำนวนกลอนกับแสดงความรู้เรื่องละครต่าง ๆ กว้างขวาง เพราะในสมัยนั้น บทละครยังมิได้พิมพ์ คุณสุวรรณคงต้องพยายามมากทีเดียว จึงได้รู้เรื่องละครต่าง ๆ มากถึงเพียงนั้น แต่มีอยู่บท ๑ ในอุณรุทร้อยเรื่องของคุณสุวรรณซึ่งควรสรรเสริญในกระบวนความว่า เป็นความคิดแปลกดี คือ บทจำแลงตัวซึ่งพิมพ์อยู่หน้า ๔๙ ในสมุดเล่มนี้


  1. ข้าพเจ้าได้กล่าวในคำนำเพลงยาวคุณสุวรรณว่า ถึงแก่กรรมเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้นผิดไป