หน้า:วินิจฉัยนาม - ดำรง - 1939.pdf/2

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
วินิจฉัยนาม

แต่จะยืนยันว่า อธิบายที่อ้างมาเป็นความเท็จทั้ง ๒ อย่าง ก็ว่าไม่ได้ ด้วยมีเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ทั้ง ๒ อย่าง จึงจะเขียนตอบแต่เป็นวินิจฉัยให้ผู้เป็นนักเรียนโบราณคดีพิจารณาดู

ข้อที่อ้างว่า ชื่อลำน้ำแม่กลองมาแต่กลองใบใหญ่นั้น เมื่อพิจารณาดูชื่อปากน้ำในอ่าวไทยชั้นในอันมี ๕ ปากน้ำด้วยกัน (ไม่นับปากน้ำบางเหี้ยนและปากน้ำบางกะปูนซึ่งเป็นแต่ปากบาง คือ คลองตัน) แต่ละปากก็มีเรื่องเป็นเค้าเงื่อนอยู่ ดังนี้

(๑) ปากน้ำบางปะกง ในหนังสือนิราสเมืองแกลงของขุนสุนทรภู่ซึ่งแต่งเมื่อปลายรัชชกาลที่ ๑ หรือต้นรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร เรียกว่า "ปากน้ำบางมังกง" คำ มังกง เป็นชื่อปลาอย่าง ๑ ปากน้ำบางมังกง หมายความว่า ปากน้ำอันอยู่ใกล้กับคลองตันอันมีปลามังกงชุม

(๒) ปากน้ำเจ้าพระยา ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตอนรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กล่าวว่า พระยาละแวกเจ้ากรุงกัมพูชายกกองทัพเรือ "เข้ามาทางปากน้ำพระประแดง" เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๐๒ และมีจดหมายเหตุของราชทูตไทยที่พาคณะสงฆ์ไปเมืองลังกาในรัชชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๙๕ กล่าวว่า พวกราษฎรพากันลงเรือช่วยแห่พระสงฆ์ลงไปส่งถึง "ปากน้ำบางเจ้าพระยา" เหตุที่เรียกชื่อปากน้ำอันเดียวผิดกันเป็น ๒ ชื่อในระยะเวลา ๑๙๒ ปีอย่างนี้ พอจะเข้าใจได้ง่าย ด้วยเมื่อรัชชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมืองพระประแดงเดิมเป็นเมืองรักษาปากน้ำ อยู่ใกล้ทะเล แต่ต่อมา ตลิ่งงอกรุกทะเลออกไปจนเมืองพระประแดง