หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/113

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐๓

ตามเดิม ทำอย่างนี้เปนวิธีมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในครั้งหลังที่สุด การชำระกฎหมายได้ทำเมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ พ.ศ. ๒๓๔๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้น หนังสือกฎหมายครั้งกรุงเก่าคงจะเปนอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงฯ เปนอันมาก พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงรวบรวมค้นหาได้เท่าใด ก็เอามาเรียบเรียงตรวจแก้ตัดทอดทำเปนกฎหมายฉบับหลวงขึ้นใหม่ คือ ฉบับพิมพ์เปน ๒ เล่มนั้น มีกฎหมายชั้นกรุงรัตนโกสินทรอยู่ในนั้น ๔ ลักษณ คือ (๑) พระราชบัญญัติ (๒) กฎหมายพระสงฆ์ (๓) พระราชกำหนดใหม่ ๓ ลักษณนี้ตั้งในรัชกาลที่ ๑ กับ (๔) ลักษณโจร ๕ เส้น ตั้งในรัชกาลที่ ๓ รวมเข้าเมื่อพิมพ์ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ กฎหมาย ๒ เล่มพิมพ์นั้น เชื่อได้ว่า คงตามรูปกฎหมายครั้งกรุงเก่า แลเปนบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งกรุงเก่าเปนอันมาก จะเห็นได้ว่า กฎหมายตอนปลายกรุงเก่าที่ได้ตัดความเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ แต่ยังไม่ทันแยกเข้าลักษณตามประมวลก็มี คือ กฎหมาย ๓๖ ข้อ แลมีกฎหมายที่ยังเปนพระราชกฤษฎีกายังไม่ได้ตัดความทีเดียวอยู่ในพระราชกำหนดเก่าก็อีกหลายสิบบท

วันคืนที่ใช้ในกฎหมายครั้งเก่า วิธีนับรอบปีตามนักษัตร คือ ชวด ฉลู เปนต้น รู้ได้แน่ว่า ใช้มาแต่ครั้งสุโขไทยแล้ว ด้วยมีปรากฎในศิลาจารึกตั้งแต่ครั้งพระเจ้าขุนรามคำแหง วิธีนับสัปตมวาร