หน้า:อธิบายเบ็ดเตล็ดฯ พงศาวดารฯ - ดำรง - ๒๔๖๙.pdf/121

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑๑

กฎหมายซึ่งกล่าวในสารบารพ์นี้เท่านั้นก็ดี หรือกฎหมายลักษณใดที่กล่าวไว่ในสารบารพ์ว่า ตั้งในแผ่นดินใด จะพึงมีแต่ในแผ่นดินนั้นก็ดี นั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เราได้เห็นพิมพ์ไว้ในกฎหมาย ๒ เล่ม เปนของที่ได้ตัดทอนแก้ไข เรียกรวมโดยนามว่า "ชำระ" มาหลายครั้งหลายคราว

ลักษณจัดหมวดประมวลกฎหมายครั้งกรุงเก่า อย่างเห็นในกฎหมายฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม พิเคราะห์ดูตามรูปกฎหมายแลเนื้อความที่ปรากฎในหมวดพระธรรมศาสตร์ ทำให้เข้าใจว่า แต่เดิม ประมวลกฎหมายไทยเห็นจะจัดเปนหมวดหมู่อย่าง ๑ แต่จะเปนอย่างไรรู้ไม่ได้ชัด อยู่มาในกาลครั้งหนึ่ง น่าจะเปนในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ซึ่งแปลเปนภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย แลมีผู้มาแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเปนภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดาร ก็น่ายุติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉนั้น ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล

ที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ของพระมโนสาร หรือ มนู นี้ เปนต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เปนหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้า