หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๓ (๑).pdf/21

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ยังมีเครื่องดุริยอยู่นอกเรื่องตำนานที่ได้แสดงมาอีกบางอย่าง สันนิษฐานว่า จะเป็นแบบของชนชาติไทยมาแต่เดิม (ดู รูปที่ ๘) อย่าง ๑ เรียกว่า ปี่ซอ ทำด้วยไม้รวกขนาดต่าง ๆ เป่าเข้าชุดกันประสานเสียงคนขับ อย่างนี้มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ พึงสังเกตได้ที่กล่าวถึง "ขับซอ" ในลิลิตเรื่องพระลอ แต่เดี๋ยวนี้ ชอบเล่นเพียงในหัวเมืองมณฑลพายัพ อีกอย่าง ๑ เรียกว่า แคน เอาไม้ซางมาผูกเรียงต่อกับเต้าเสียงเป่าเป็นเพลงประสานเสียงกับคนขับ อย่างนี้ชอบเล่นทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก กระบวนขับเข้ากับปี่ซอก็ดี เข้ากับแคนก็ดี คนขับเป็นชายฝ่ายหนึ่ง หญิงฝ่ายหนึ่ง มักขับโต้ตอบกันในทางสังวาส มาถึงในรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทรนี้ แตรวงมหาดเล็กคิดทำแคนต่างขนาดกัน เป่าประสมวงราว ๑๐ คันเป็นทำนองแตรวงอย่างฝรั่ง ฟังก็เพราะดี ยังมีเล่นอยู่จนทุกวันนี้

ในเครื่องประเภทนี้มีอีกชะนิด ๑ เอาไม้ซางต่อกับเต้าเป่าเป็นเสียง อย่างที่หนึ่งเรียกว่า "เรไร" เป่าได้เสียงเดียว (เห็นเคยใช้เป็นเครื่องประโคมเวลาพระลงพระอุโบสถที่วัดบวรนิเวศมาก่อน แต่ในพื้นเมืองเขาจะใช้เพื่อกิจอันใดมาแต่เดิมหาทราบไม่) อย่างที่ ๒ เรียกว่า "นอ" ของพวกมูเซอ