หน้า:เครื่องมโหรีฯ - ดำรง - ๒๔๗๓ (๑).pdf/6

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

นัทธะ (เครื่องตี) นั้น สำหรับประกอบเพลง ส่วนเครื่องประเภทฆะนะ (เครื่องกระทบ) นั้น สำหรับทำจังหวะ

เครื่องในประเภทหนึ่ง ๆ มีมากมายหลายอย่าง เช่น ประเภทเครื่องสายนั้น พิณสายเดียว (คือ พิณน้ำเต้า ยังมีตัวอย่างอยู่) เป็นของเดิม ครั้นต่อมา มีผู้คิดเพิ่มเติมเป็นสองสาย สามสาย เจ็ดสาย เก้าสาย จนถึงยี่สิบเอ็ดสาย และเรียกชื่อต่าง ๆ กัน แต่พิณทุกชะนิดย่อมเป็นเครื่องสำหรับดีดลำนำประสานกับเสียงขับร้อง ใครขับร้องก็ถือพิณดีดเอง ดังเช่นที่กล่าวว่า คนธรรพ "จับพิณเข้าประสานสำเนียงครวญ" ขับเย้ยพระยาครุฑในเรื่องกากี เป็นตัวอย่าง เมื่อพิณทำเป็นหลายสาย ตัวพิณก็ย่อมเขื่องขึ้นและหนักขึ้นทุกที บางอย่างจะถือดีดไม่ไหว ต้องเอาลงวางดีดกับพื้น จึงเกิดเครื่องวางดีด เช่น จะเข้ เป็นต้น แล้วเกิดเครื่องวางสี เช่น ซอ ต่อมา ล้วนเนื่องมาแต่พิณทั้งนั้น ในตำราสังคีตรัตนากรจึงนับไว้ในประเภทเดียวกัน เรียกว่า ตะตะ ไทยเราเรียกว่า เครื่องดีดสี (ดู รูปที่ ๑ รูปที่ ๒)

เครื่องในประเภทพวกสุษิระ คือ เครื่องเป่า นั้น ก็มีหลายอย่างต่างกัน เป็นต้นแต่ผิวปาก เป่าใบไม้ เป่าหลอด เป่าสังข์ เป่าแตร เป่าขลุ่ย เป่าปี่ เป่าแคน ตลอดจนเป่าเขาสัตว์ให้เป็นเสียง ก็นับอยู่ในพวกสุษิระทั้งนั้น (ดู รูปที่ ๗)