หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/41

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๓๖

พิษณุโลก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา พระองค์ ๑ ครั้งนั้น เมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์อยู่ ๓ ปีในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑ จน พ.ศ. ๒๐๓๔ คงตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองพิษณุโลกขึ้นอีกสำรับ ๑

ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาได้รับรัชทายาทครองเมืองไทยทั่วทั้งหมด เปลี่ยนพระนามเป็น สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) เสด็จลงมาประทับ ณ พระนครศรีอยุธยา ข้าราชการเมืองพิษณุโลกก็ลงมาสมทบกับข้าราชการในพระนครศรีอยุธยาแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นหลักฐานได้ในคำที่เรียกข้างท้ายชื่อกรมว่า ฝ่ายเหนือ กับที่ตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือมีเหมือนกันตั้งแต่ปลัดทูลฉลอง ปลัดบัญชี ตลอดจนหัวพันนายเวร แต่กรมพลำภังนั้นเห็นจะตั้งขึ้นเมื่อใดและหน้าที่เดิมเป็นอย่างไร กล่าวกันแต่ว่า เกี่ยวกับปืนใหญ่ อาจจะเป็นพนักงานขนปืนใหญ่ในกองทัพหลวงก็เป็นได้ แต่ข้าราชการในกรมฝ่ายเหนือกับกรมพลำภังทำราชการคละกันกับกรมกลางมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงไม่มีใครรู้ว่า หน้าที่เดิมเป็นอย่างไร

ข้าพเจ้าอยากจะรักษาชื่อเดิมของกรมต่าง ๆ ให้คงอยู่ต่อไป เมื่อจัดแผนกหน้าที่ต่าง ๆ ในกระทรวงมหาดไทย จัดเป็น ๓ กรมและเรียกชื่อตามทำเนียบเดิม เป็นแต่ให้มีหน้าที่ต่างกัน คือ กรมมหาดไทยกลางเป็นพนักงานทำการทุกอย่างซึ่งมิได้แยกออกไปเป็นหน้าที่กรมอื่น ปลัดทูลฉลองเป็นหัวหน้า และว่าการได้ทั้งกระทรวงรองแต่เสนาบดีลงมา ในกรมกลางนั้น ให้ปลัดบัญชีเป็นหัวหน้าพนักงานการเงิน มีศักดิ์เป็นชั้นเจ้ากรมรองปลัดทูลฉลองลงมาอีกคน ๑ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ ให้เป็นเจ้าหน้าที่