หน้า:เทศาภิบาล - ดำรง - ๒๔๙๘.pdf/53

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๔๘

หลวงเพิ่มขึ้นมีต่ออกไปจนถึงค่าสร้างศาลารัฐบาลและสถานที่ทำราชการอย่างอื่นขึ้นใหม่ ทั้งสร้างเรือนให้ข้าราชการผู้ไปจากต่างถิ่นอยู่อาศัยให้พอกัน ถ้าจะว่า ต้องสร้างเมืองใหม่หมดทุกเมือง ก็ไม่ผิดกับความจริงซึ่งพึงเห็นในปัจจุบันนี้ แต่ในสมัยนั้น ปรารภเพียงแต่จำเป็นในชั้นนั้น ก็จะเป็นจำนวนเงินมากมิใช่น้อย น่ากลัวการที่จัดจะติดขัดเพราะไม่ได้เงินพอใช้ด้วยอีกอยางหนึ่ง

ข้าพเจ้ากลับลงมากรุงเทพฯ ถวายรายงานและกราบทูลความคิดเห็นดังกล่าวมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวมหัวเมืองเป็นมณฑลดังข้าพเจ้าคิด และให้ข้าพเจ้าพิจารณาดู เห็นใครควรจะเป็นผู้บัญชาการมณฑลไหนก็ให้กราบบังคมทูล ส่วนเรื่องเงินที่จะต้องใช้นั้นจะทรงสั่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เวลานั้น ยังไม่ได้รับกรม แต่เป็นตำแหน่งรองอธิบดีบัญชาการกระทรวงพระคลังฯ ให้ปรึกษาหาทางที่จะแก้ไขความลำบากด้วยกันกับข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าได้รับสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็มาคิดการที่จะจัดตั้งมณฑลก่อน เห็นว่า ควรเอาลำน้ำอันเป็นทางคมนาคมเป็นหลักอาณาเขตมณฑล จึงกำหนดหัวเมืองข้างตอนใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองอ่างทอง ๑ เมืองสิงห์บุรี ๑ เมืองพรหมบุรี ๑ เมืองอินทบุรี ๑ รวม ๗ เมืองเป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า มณฑลกรุงเก่า (ตามชื่อซึ่งเรียกกันในเวลานั้น จนรัชกาลที่ ๖ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา)

รวมหัวเมืองทางลำแม่น้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี ๑ เมืองนครนายก ๑ เมือง