หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/113

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๔๐  โฉมหน้าศักดินาไทย

ชุดใหม่ไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการจำกัดอำนาจทางการเมืองของเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่นี้ไว้จากขั้นพื้นฐานกล่าวคือ จำกัดอำนาจทางการเมืองโดยการควบคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ เหตุผลสำคัญขั้นหัวใจอีกข้อหนึ่งก็คือ พระบรมไตรโลกนาถไม่มีทาสจำนวนมหึมามหาศาลเป็นเครื่องมือในการผลิตเหมือนกษัตริย์ในยุคทาส ทางเดียวที่จะแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินได้ก็คือแจกจ่ายที่ดินให้กับเสรีชน และข้าราชบริพารไปทำการผลิตแล้วส่งส่วนแบ่งคืนมาเป็นส่วยสาอากร พ้นจากวิธีนี้ แล้วกษัตริย์ของสังคมศักดินาก็ไม่สามารถแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินได้เลยแม้แต่น้อย... ทั้งนี้เพราะกษัตริย์มิได้ทำนาเอง!

ถ้าหากพวกศักดินายังจะยืนยันว่า กฏหมายศักดินาเป็นกฏหมายลม มิได้มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินกันจริงๆ เราก็ต้องปรับเอาว่า พระบรมไตรโลกนาถมีเงินใช้มีข้าวกินก็โดยการใช้ทาสจํานวนมโหฬารทำงานในที่ดิน นั่นคือเป็นกษัตริย์ในยุคทาส แล้วตั้งกฏหมายศักดินาขึ้นเล่นโก้ๆ เพื่อปลอบใจพวกทาส เมื่อปรับเอาเช่นนี้ พวกศักดินาก็คงจะร้องค้านโวยวายขึ้นอีก เพราะมันเป็นข้อน่ารังเกียจหนักขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เมื่อระบุว่าพระบรมไตรโลกนาถเป็นศักดินาใหญ่แจกจ่ายที่ดินเพื่อเก็บผลประโยชน์ ก็ไม่ยอมรับ ครั้นขยับให้ย้อนหลังไปเป็นนายทาสใหญ่ ก็ปฏิเสธเช่นนี้ ทางเดียวที่พวกศักดินาจะพอใจก็คือการกล่าวว่า พระบรมไตรโลกนาถเป็นกษัตริย์ "ประชาธิปไตย" กระนั้นหรือ?

การที่พวกศักดินาโต้เถียงว่ากฏหมายศักดินาเป็นกฏหมายลม มิได้มีการแจกจ่ายที่ดินอย่างจริงจัง ก็เพราะในชั้นหลังๆ ลงมาเมื่อเกิดการสืบทอดมรดกที่ดินกันขึ้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานที่ดินไปแล้ว เมื่อออกจากราชการหรือตายลงไม่ต้องเวนคืนที่ดินมาให้กษัตริย์แจกจ่ายให้ผู้อื่นใหม่ ที่ดินในกรรมสิทธิ์เอกชนเพิ่มมากขึ้น