หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/125

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๕๒  โฉมหน้าศักดินาไทย

ไม่ได้เสียแล้วเป็นแม่นมั่น ... ที่ถูกมันควรจะเป็นว่าใครจะได้ที่ดินมากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะรับใช้กษัตริย์ได้อย่างใกล้ชิดเด็ดดวงถึงอกถึงใจกว่าใครอย่างนี้ต่างหาก!

วัดและมิสซัง...เจ้าที่ดินใหญ่

การแบ่งสรรปันส่วนปัจจัยการผลิตของชนชั้นศักดินานั้น นอกจากจะแบ่งปันในหมู่วงศ์วานว่านเครือกษัตริย์และขุนนางแล้ว วงการที่ได้รับส่วนแบ่งที่ดินมากที่สุดอีกวงการหนึ่งก็คือ วงการศาสนา วัดวาอารามที่มีอยู่ทั่วประเทศส่วนหนึ่งได้รับพระราชทานที่ดินเป็นวิสุงคามสีมา และที่ดินโดยรอบวัดเป็นที่สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงเลี้ยงวัดและพระสงฆ์ จากพระอัยการตำแหน่งนา สังเกตได้ว่าพระสงฆ์และนักบวชไม่ได้รับที่ดินมาครอบครองเป็นรายตัว เป็นแต่ได้รับผลประโยชน์เท่ากับที่พวกขุนนางได้รับจากจำนวนที่ดินเท่านั้นๆ ฉะนั้นจึงใช้คำว่า "เสมอนา" เช่นพระครูรู้ธรรมเสมอนา ๒,๔๐๐ ไร่ ผลประโยชน์นี้เรียกกันว่า "นิตยภัต" คือข้าวปลาอาหารที่ถวายสม่ำเสมอ ข้าวปลานี้ได้มาจากไหน? คำตอบก็คือได้มาจากผลประโยชน์บนที่ดินที่ประทานให้แก่วัด พระสงฆ์ และนักบวชทั้งหลายในวัดจึงถือผลประโยชน์บนที่ดินนั้นร่วมกัน และได้รับส่วนแบ่งมากน้อยตามขนาดของศักดินาที่ทางราชสำนักเทียบเสมอให้

การยกที่ดินให้เป็นสมบัติของวัด หรืออยู่ในความดูแลของวัดนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทั่วไปทุกประเทศในโลก ที่ขึ้นชื่ลือชามากที่สุดก็คือในประเทศฝรั่งเศสยุคโบราณ ในยุคนั้นพวกพระหรือวัดครอบครองที่ดินผืนมหึมาเก็บค่าเช่าและผลประโยชน์จากประชาชนที่อาศัยเช่าธรณีสงฆ์ ค่าเช่านี้เรียกกันว่า Tithe (เป็นอากรร้อยละ ๑๐) ในประเทศอังกฤษก็มีที่ดินธรณีสงฆ์เช่นนี้จำนวนมหึมามหาศาล