หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/128

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๕๕ 

การยกที่ดินและผลประโยชน์ให้แก่วัดก็คือการยกที่ดินให้แก่วัดในเขตเมืองพัทลุง และเมืองขึ้นของพัทลุงในสมัยพระเพทราชาเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๒ ที่ดินทั้งหมดที่ยกให้แก่วัดในครั้งนั้นไม่ทราบจำนวนเนื้อที่แต่ทราบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น ๒๙๐ วัด นอกจากที่ดินที่ยกอุทิศให้แก่วัดแล้ว บรรดาไพร่ทั้งปวงที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ดี พวกชาวเหนือที่อพยพกวาดต้อนลงไปไว้ทางปักษ์ใต้ก็ดี ยกให้เป็นคนของวัดทั้งสิ้น ผลประโยชน์ทั้งปวงที่ทำาได้ตกเป็นของวัดสำหรับบำรุงพระสงฆ์ที่อาศัยและซ่อมแซมวัดนั้นๆ พวกคนที่ตกเป็นของวัดนี้เรียกกันว่า "เลกวัด" เพราะมีสภาพเดียวกับเลกของเจ้าขุนมูลนาย บางทีก็เรียกว่า "ข้าพระ" หรือไม่ก็ "โยมสงฆ์" หรือเรียกควบว่า "ข้าพระโยมสงฆ์" คนพวกนี้ ทั้งหมดได้รับการผ่อนปรนไม่ต้องเสียภาษีอากรใดๆ ทั้งสิ้น เพราะผลประโยชน์ที่ได้ใช้บำรุงวัดโดยสิ้นเชิงอยู่แล้ว๘๔

การยกที่ดิน เลก และผลประโยชน์ให้แก่วัดที่ขึ้นชื่อลือชามากอีกแห่งหนึ่งในเมืองไทย ก็คือที่พระพุทธบาทสระบุรี เมื่อสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๑๗๑) ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ตาพรานบุญผู้มีบุญได้พบรอยพระพุทธบาท พระเจ้าทรงธรรมได้สร้างวัดสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทแล้วจึง :

"ทรงพระราชอุทิศที่ดิน ๑ โยชน์ (คือ ๑๖ กิโลเมตร-ผู้เรียบเรียง) รอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งกัลปนาผลซึ่งเก็บได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น ก็ถวายไว้สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดีย์สถานที่พระพุทธบาท และโปรดให้ชายฉกรรจ์อันมีภูมิลำเนาในเขตที่ทรงอุทิศนั้นพ้นจากราชการอื่น จัดเป็นพวกขุนโขลนเข้าปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว ที่บริเวณที่ทรงพระราชอุทิศนั้น ให้นามว่าเมืองปรันตปะ แต่เรียกโดยสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท"๘๕