หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/146

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๗๓ 

ฉันหายใจ อาศัยน้ำในลำคลองฉันดื่มก็ต้องเสียเงินหรือสิ่งของที่ฉันต้องการให้แก่ฉันเป็นสิ่งตอบแทน ถ้าจะพูดให้กระจ่างแจ้งส่วยก็คือเงินค่าเช่าดินฟ้าอากาศหรือเช่าดินน้ำลมไฟจากกษัตริย์ ถ้าไม่เช่นนั้นก็คือเงินแป๊ะเจี๊ยะเราดีๆ นี่เอง

ประเภทของส่วยมีอยู่ด้วยกัน ๔ ประเภทคือ

ก. เครื่องราชบรรณาการ คือส่วยที่พวกเจ้าประเทศราชหรือสามนตราช (Vassals) ต้องส่งมาถวายเป็นประจำ ปีละครั้งบ้าง สามปีต่อครั้งบ้าง ของที่จะส่งมาเป็นส่วยหรือบรรณาการก็มักมีสิ่งของพื้นเมืองที่หาได้ยากในราชสำนักของศักดินาเมืองไทย เช่น ประเทศญวนก็จะมีแพรอย่างดี ประเทศลาวก็จะมีของป่าที่หายาก ดังนี้เป็นต้น แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ก็คือ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองอย่างละต้น ส่งควบเข้ามาสำหรับบูชาพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในกรุง การกะเกณฑ์ส่วยสาบรรณาการนี้ เป็นการขูดรีดระหว่างชนชั้นศักดินาต่อชนชั้นศักดินาด้วยกัน ซึ่งแน่นอนย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการขูดรีดประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย

ข. พัทธยา คือการริบเอาสมบัติทรัพย์สินของเอกชนเข้าเป็นของกษัตริย์ ในสมัยพระนารายณ์ ลาลูแบร์เล่าไว้ว่า ริบเอาส่วนแบ่งจากทรัพย์สินมรดกของผู้ตาย ซึ่งรัฐบาลศักดินาเห็นว่ามีอยู่เกินศักดิ์ของทายาท ทรัพย์สินของพวกนี้ เรียกว่า ต้อง "พัทธยา" พัทธยานั้นตามตัวแปลว่า การฆ่า การประหาร ทรัพย์สินพัทธยาจึงมิได้หมายถึงแต่เพียงทรัพย์สินมรดกที่มีมากเกินศักดิ์ของผู้รับทายาทเท่านั้น หากหมายถึงทรัพย์สินทั้งปวงที่รัฐบาลศักดินาริบมาจากผู้ที่ต้องโทษประหาร ถ้าเราเปิดดูกฏหมายเก่าๆ สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปจะพบโทษ ฟันคอ, ริบเรือน, ริบราชบาตร มีอยู่แทบทุกมาตรา พวกที่ถูกฟันคอริบ