หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/151

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๑๗๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

เงินค่าราชการ" ได้ทั่วถึงเสมอภาคกันนี้เอง พระราชบัญญัติเก็บเงินใหม่จึงออกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ คราวนี้เปลี่ยนเรียกชื่อเงินเป็น "รัชชูปการ" คือ "บำรุงแผ่นดิน" หรือ "บำรุงกษัตริย์" ในพ.ร.บ. นั้นให้คำนิยามไว้ว่า

"คำว่า "เงินรัชชูปการ" ให้พึงเข้าใจว่า บรรดาเงินซึ่งบุคคลต้องถวายหลวงตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้"

อัตราที่เก็บคราวนี้ก็คงเท่าเดิม คือเก็บ ๖ บาทต่อปี จากอายุ ๑๘ จนถึง ๖๐ ผิดกันก็คือตัดบุคคลที่ได้รับยกเว้นออกไปเสียบ้าง คงไว้แต่เพียง ๑) นักบวช (เฉพาะบางนิกายและมีเงื่อนไขต่างหาก), ๒)ทหาร ตำรวจ ที่ต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตรและกองหนุนประเภทที่ ๑, ๓) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตร แพทย์ประจำตำบล, ๔) คนพิการทุพพลภาพ, ๕) คนบางพวกที่ยกให้เฉพาะแห่ง

การแก้ไขการเสียเงินค่ารัชชูปการให้ได้เสียอย่าง "เสมอภาค" นี้ เป็นสิ่งที่ศักดินา "ผเอิดผเสิน" กันหนักหนาถึงกับมีผู้เขียนสรรเสริญรัชกาลที่ ๖ ไว้ว่า :

"แม้ที่สุดจนพระองค์เองก็ทรงยอมเสียค่ารัชชูปการปีละ ๖ บาท เหมือนกับคนอื่นๆ"๙๗

ไม่ทราบว่าจะให้เข้าใจว่าอย่างไรเพราะถึงแม้จะทรงควักพระกระเป๋าเสียเงินสักล้านบาทก็คงเป็นเงินรัชชูปการ (บำรุงพระราชา) อยู่นั่นเอง!

เงินรัชชูปการนี้ มาถึง พ.ศ. ๒๔๖๘ (รัชกาลที่ ๗) ได้เลื่อนเกณฑ์อายุจาก ๑๘ ขึ้นเป็น ๒๐ อัตรายังคงเดิมและยังคงต้องเสียไปจนถึงอายุ ๖๐ ปี เช่นนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนท้ายที่สุดมายกเลิกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง