หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/174

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๒๐๑ 

ออกบัตรแข็งให้ลูกน้องสำหรับเบ่งไม่ต้องเสียภาษี รัชกาลที่ ๔ ก็จะบ่นว่าได้เงินมาไม่พอแจกเป็นเงินปีให้พวกเจ้านาย จะต้องลดส่วนเงินปีลง ซ้ำยังอธิบายเสียด้วยว่า

"เงินซึ่งพระราชทานแจกเบี้ยหวัดแก่ข้าราชการทุกๆ ปี นั้น มิใช่เงินได้มาแต่บ้านเมืองอื่นนอกประเทศคือเงินในจำนวนภาษีอากรนั่นเอง"

แต่พอมาพูดกับพวกไพร่พวกชาวนา ก็กลับมาอ้างเอาว่าเป็นเงิน "พระราชทรัพย์" บ้าง ต้อง "สิ้นพระราชทรัพย์ ๕๐ ชั่งเศษโดยทรงพระมหากรุณาช่วยนาของราษฎร...ตามกำลังจะทำได้ เป็นพระเดชพระคุณแก่ราษฎรอยู่ ควรราษฎรจะคิดถึงพระเดชพระคุณอย่าต้องให้ลำบาก (ในการเก็บภาษีอากร) นัก!"

นี่แหละคือธรรมเนียมทวงบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนของพวกศักดินา มันก็น่าคิดว่าใครมีบุญคุณแก่ใครกันแน่

เพราะการที่กษัตริย์ไม่ค่อยเอาใจใส่ช่วยเหลือประชาชนและเพราะการที่มัวแต่เสียดายราชทรัพย์อยู่นี้เองจึงทำให้นาแล้งบ้าง ล่มจมบ้างตลอดมาในสมัยศักดินา ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ข้าวยากหมากแพง" จึงเกิดขึ้นเสมอ ถ้าตรวจดูในจดหมายเหตุเก่าๆ จะพบเรื่อง "ข้าวแพงๆ ๆ" อยู่เสมอ เช่น

ปีขาล จ.ศ. ๑๑๒๐ (พ.ศ. ๒๓๐๑) ปีนี้ข้าวแพงเกวียนละ ๑๒ ตำลึง (ราคาข้าวปกติเกวียนละ ๓-๕-๖ ตำลึง)

ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๔๗ (พ.ศ. ๒๓๒๘) น้ำมากข้าวแพงเกวียนละชั่ง

ปีมะเส็ง จ.ศ. ๑๑๘๓ (พ.ศ. ๒๓๖๔) ข้าวเกวียนละ ๗ ตำลึง ข้าวสารถังละ ๓ สลึงเฟื้อง ปีนี้งูน้ำกัดคนตายมาก

ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๘๔ (พ.ศ. ๒๓๖๕) ข้าวเกวียนละ ๑๑ ตำลึง