หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/177

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๒๐๔  โฉมหน้าศักดินาไทย

ครั้นล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๔๐๗ คือถัดมา ๑๐ ปี เกิดฝนแล้วน้ำน้อยอีกครั้งหนึ่ง พวกเจ้าของนาคู่โคก็ร้องทุกข์ว่าสู้อากรไม่ไหว รัชกาลที่ ๔ จึงประกาศโต้ว่าได้อุตส่าห์ลดให้ไร่ละสลึงแล้ว นาในเขตกรุงเก่าอ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรีนั้น คิดเป็นจำนวนนาถึง ๓๒๐,๐๐๐ ไร่เศษคิดลดให้ไร่ละเฟื้องก็ตกเข้าไปปีละ ๕๐๐ ชั่ง (สี่หมื่นบาท) คิดดูเถอะอุตส่าห์ลดลงมาให้ตั้ง ๑๐ ปีแล้ว ในหลวงต้องขาดเงินไปถึง ๕,๐๐๐ ชั่ง (สี่แสนบาท) "ราษฎรได้เปรียบในหลวงกว่าแต่ก่อนมาถึง ๙ ปี ๑๐ ปีแล้ว" ฉะนั้น "ก็ในปีนี้ ฝนแล้งน้ำน้อยจะคงเรียกอยู่ไร่ละสลึงตามธรรมเนียมไม่ได้หรือ" และยังมีข้อคิดให้ไว้ด้วยว่า "ถ้าใครยังเห็นอยู่ว่าจะทนเสียค่านาไปไม่ได้ ก็ให้เวนนาคืนแก่กรมนาผูกเป็นของหลวงเสียทีเดียว" พวกเจ้าที่ดินโดนไม่นี้เข้าก็ สงบปากสงบคำ พวกไพร่โดนไม้นี้เข้าก็หน้าหงายหวานอมขมกลืนต่อไป

แต่ยังก่อน ลวดลายการเก็บอากรค่านายังไม่หมดเรื่องยังมีต่อไปอีกว่าถ้าหากในปีน้ำน้อย (พ.ศ. ๒๔๐๗) นี้ประชาชนผู้ยากจนคนใดจะขอผ่อนปรนชำระอากรค่านาเฉพาะแต่ที่ได้ทำได้เก็บได้เกี่ยวก็ยินยอมให้ แต่มิได้หมายความว่าจะยกอากรค่านาที่มิได้ทำให้ หากให้เป็นหนี้ค้างไว้ชำระปีหน้า ถึงปีหน้าต้องชำระเงินต้นไร่ละสลึงบวกด้วยดอกเบี้ยอีก ๑ เฟื้อง (๑๒ สตางค์) รวมเป็นไร่ละสลึงเฟื้อง เป็นอันว่าผู้ที่ต้องค้างค่านาหลวงจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๔๘ หรือ ๕๐ ต่อปี!! (ดอกเบี้ยหนึ่งเฟื้องต่อเงินต้น ๑ สลึง)

อนึ่งขอให้สังเกตว่า นาน้ำฝนฟางลอยอันอยู่ในที่ดอนนั้นดูสงบเงียบไม่มีการร้องทุกข์เอะอะเหมือนนาคู่โคอันอยู่ในที่ลุ่มเป็นนาดี ทั้งนี้ก็เพราะพวกชาวนายากจนที่ทำไร่ทำนาคนละ ๕ ไร่ ๑๐ ไร่ บนนาดอนนั้นแม้จะร้องขึ้น เสียงก็เงียบหายไปเหมือนสีซอให้ควายฟัง