หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/188

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๒๑๕ 

(มี ๑๓ เดือน คือมีเดือน ๘ สองหน) ให้เพิ่มภาษีขึ้นอีก ๑๖๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ตามการสำรวจของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ภาษีฝิ่นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ขึ้นสูงไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี นับว่าเป็นภาษีอากรจำนวนมหึมาทีเดียว (ตำนานภาษีอากรบางอย่างในลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ ๑๖)

เรื่องของภาษีฝิ่นนี้น่าขำ เดิมทีเดียวในเมืองไทยห้ามสูบฝิ่นเด็ดขาด เมื่อรัชกาลที่ ๒ เคยออกประกาศห้ามสูบฝิ่นมาครั้งหนึ่ง ลงวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๙๓ ปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. ๒๓๕๔) ใครสูบฝิ่นจับได้ "พิจารณาเป็นสัตย์ จะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน ๓ ยก ตระเวนบก ๓ วัน ตระเวนเรือ ๓ วัน ริบราชบาตรบุตรภรรยาและทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัวไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าวจะให้ลงอาญาเฆี่ยน ๖๐ ที" มิหนำซ้ำยังได้ตั้งนรกขุมใหม่คือนรกฝิ่นขึ้นอ้างขู่ประชาชนอีกด้วยว่า "ครั้นตายไปตกมหาดาบนรก นายนิริยบาล (คือยมบาล) ลงทัณฑกรรมกระทำโทษต้องทนทุกข์เวทนาโดยสาหัสที่สุดมิได้ ครั้นพ้นจากดาบนรกแล้วก็ต้องไปเป็นเปรตวิสัยมีควันไฟพุ่งออกมาจากทางปากจมูกเป็นนิจ"๑๒๒

แต่มาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กำลังต้องการเงิน เพราะมีสนมกรมในและลูกเธอมากต้องปลูกสร้างวัดสร้างสวนที่นาไว้ให้ เงินทองไม่พอใช้ จึงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องนรกจกเปรตอะไรที่อ้างไว้นั้นเสีย แล้วอนุญาตให้ตั้งภาษีฝิ่นมีเจ้าภาษีผูกขาดกันขึ้น จนในที่สุดได้มาตั้งเป็นกรมดำเนินการโดยรัฐบาลศักดินาเองในสมัยรัชกาลที่ ๖

"อากรบ่อนเบี้ย" อากรนี้มีมาโบรมโบราณเต็มทีลักษณะของมันก็คือให้มีการประมูลตั้งบ่อนการพนันขึ้นตามหัวเมืองและตำบลต่างๆ เปิดให้ประชาชนเข้าเล่นการพนันได้อย่างเสรี (แบบ