หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/194

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๒๒๑ 

เงื่อนไขผลประโยชน์ เจ้าภาษีก็แต่งตั้งนายอากรขึ้นทำการเก็บภาษี "ส่วนที่จัดเก็บอยู่แล้วเมื่อต้องแย่งกันประมูลส่งเงินหลวงเป็นจำนวนมาก ก็หาทางเก็บนอกเหนือพิกัดอัตราที่กำหนดไว้ และบังคับปรับไหมลงเอาแก่ราษฎร เกิดเป็นถ้อยความวิวาทชกตีและทุ่มเถียงกันเป็นคดีขึ้นโรงศาลอยู่บ่อยๆ เช่น ผูกอากรค่าน้ำ ก็ส่งคนไปเก็บตามครัวเรือน เมื่อมีเครื่องดักสัตว์จับปลาก็เรียกเก็บภาษีเอาจากเครื่องเหล่านั้น เพียงเท่านี้ก็พอทำเนา เพราะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในตราตั้ง แต่ที่เรียกเก็บเอาจากครัวเรือนซึ่งไม่มีเครื่องดักจับสัตว์น้ำนี้เต็มที โดยออกอุบายว่า ถึงไม่ได้จับสัตว์น้ำ แต่ก็กินน้ำด้วยหรือเปล่า ถ้าตอบว่ากิน ก็ว่าแม่น้ำลำคลองเป็นของหลวง เมื่อกินน้ำก็ต้องเสียค่าน้ำ บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเป็น "ค่าน้ำ" ราษฎรที่ไม่รู้อะไรก็ยอมเสียให้ไป"๑๒๔

เล่ห์เหลี่ยมการขูดรีดของพวกนายหน้าผูกขาดนี้ยังมีอีกมากมายหลายวิธี เช่น รับผูกขาดภาษีกล้วย ว่าจะเก็บอากรเป็นกอ แต่เวลาไปเก็บจริง เก็บดะทั้งที่เป็นต้นเดี่ยวยังไม่แตกหน่อออกกอ พอเจ้าของไร่กล้วยร้องค้าน ก็อ่านข้อความตราตั้งให้ฟังว่าเก็บเป็นรายต้น เมื่อพบคนอ่านหนังสือออกเข้าก็มีเรื่องกันเสียที เมื่อถึงคราวเคราะห์เจ้าภาษีก็ยกอากรให้เป็นค่าปิดปากจะได้เงียบไปเสีย

การผูกขาดภาษีนี้ ต่อมาการเป็นการเซ็งลี้สิทธิ์ตราตั้งกันเป็นล่ำเป็นสัน กล่าวคือ "เจ้าภาษีรับทำภาษีแล้วขายช่วงให้ผู้อื่นเป็ นตอนๆ ไป ตามระยะแขวงหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และผู้ที่ซื้อช่วงไปนั้นหาเรียกภาษีตามพิกัดท้องตราไม่ ไปยักย้ายเรียกให้เหลือๆ เกินๆ เอารัดเอาเปรียบแก่ราษฎร ราษฎรที่ไม่ได้รู้พิกัดในท้องตราก็ต้องยอมเสียให้ตามใจผู้เก็บที่รับช่วงไปจากเจ้าภาษีใหญ่" (ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๗ น.๙๒) ว่าดังนั้นแล้วรัฐบาลศักดินา