หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/22

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๔๙ 

พระเจ้าแผ่นดินประทานที่ให้คนอยู่อาศัย พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิที่จะริบโอนเวนคืน (เวนคืน = เอาที่ดินกลับคืนไป) ที่ดินได้ทุกขณะ ดังนั้นรัฐของสังคมศักดินาจึงถูกเรียกขานกันว่า "พระราชอาณาเขต" ซึ่งแปลว่า ผืนที่ดินของพระราชา ในภาษาอังกฤษซึ่งเรียกพระราชาว่า King ก็เรียกประเทศว่า Kingdom ( = อาณาเขตของพระราชา) ภาษาฝรั่งเศสที่เรียกกษัตริย์ว่า Roi ก็กําหนดให้เรียกประเทศสมัยศักดินาว่า : Royaume อันมีความหมายว่าเขตแดนของพระราชาเช่นเดียวกัน

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกษัตริย์มีอํานาจเหนือแผ่นดินและเหนือชีวิตของมวลชน กษัตริย์เป็นผู้ประทานชีวิตให้แก่มวลชน มวลชนจึงมีชีวิตอยู่ได้ กษัตริย์จะเวนคืนชีวิตนั้นเสีย (คือประหาร) เมื่อใดก็ได้ ดังนั้นรัฐของศักดินาจึงถูกกําหนดให้เรียกขานกันอีกอย่างหนึ่งว่า "พระราชอาณาจักร" อันแปลว่า "ผืนดินภายในเขตที่กงล้อแห่งอํานาจของพระราชาหมุนเวียนไปถึง" (อาณาเป็นภาษาบาลี ตรงกับภาษาสันสกฤตว่าอาชญาหรืออาญา) โดยลักษณะการรวบอํานาจดังกล่าวนี้ รูปแบบของการปกครองของสังคมศักดินาจึงเป็นการปกครองระบอบ "ราชาธิปไตย" (อํานาจเป็นของพระราชา) หรือ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (อํานาจและสิทธิ์อันสมบูรณ์เป็นของพระราชา) ด้วยการปกครองแบบนี้เท่านั้น ชนชั้นเจ้าที่ดินจึงจะมีหลักประกันได้ว่า ตนมีความมั่นคงในการกดขี่และขูดรีดแรงงานตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ได้ตามใจชอบ

๒) ความขัดแย้งและการต่อสู้ภายในชนชั้นศักดินาเอง

ระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) นี้ ชนชั้นปกครองประกอบขึ้นด้วยวงศ์วานว่าน