หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/24

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๕๑ 

"สามนตราช" หรือ "พระยามหานคร" (Vassals) พวกนี้จะต้องอยู่ในบัญชาของกษัตริย์ ซึ่งกษัตริย์จะบัญชาอะไรได้ก็โดยได้ปรึกษาหารือร่วมกับพวกนี้เสียก่อน ถ้าพวกนี้ไม่ยินยอมเห็นดีด้วยในการนั้นๆ กษัตริย์ก็บัญชาอะไรได้ยาก พวกเจ้าขุนมูลนายใหญ่ๆ มักทําอะไรเป็นการท้าทายกษัตริย์เสมอ ลักษณะเช่นนี้ ปรากฏชัดในตอนต้นยุคศักดินาของอังกฤษสมัยพระเจ้าวิลเลียมแห่งนอมันดี พูดง่ายๆ ก็คือสิทธิอํานาจกษัตริย์สะดุดหยุดกึกลงเพียงพวกสามนตราชหรือพระยามหานครนี้ เท่านั้น พวกสามนตราชหรือพระยามหานครจะมีเมืองเล็กเมืองน้อยเป็นเมืองขึ้นอีกเท่าใด จะกดขี่ขูดรีดประชาชนอย่างไร จะออกกฏหมาย ออกเงินตรา ฯลฯ อย่างไรเป็นเรื่องของตนเอง กษัตริย์ยุ่งด้วยไม่ได้ อํานาจที่แท้จริงของกษัตริย์จะมีอย่างทั่วถึงแท้จริงก็เพียงในหัวเมืองใหญ่น้อยที่ขึ้นตรงกับตนเท่านั้น ดังนั้นขั้นสุดท้ายของการต่อสู้ภายในชนชั้นก็คือ กษัตริย์พยายามล้มเลิกพระยามหานครหรือสามนตราชต่างๆ เสีย ตั้งคนของตนขึ้นแทนสําหรับดูแลเมืองเล็กเมืองน้อยในอํานาจของพวกสามนตราชและพระยามหานครเดิมมา วิธีนี้ทําให้มั่นใจได้ว่าพวกพระยามหานครหรือสามนตราชจะไม่ทรยศเหมือนพวกชุดเก่าที่เคยเป็นมา การล้มเลิกประเทศสุโขทัยต้นสมัยอยุธยา การล้มเลิกประเทศเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การล้มเลิกรัฐของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ฯลฯ เหล่านี้ ก็คือแผนการรวบอํานาจทั้งสิ้น

วิธีการอีกอย่างหนึ่งอันเป็นวิธีการขั้นสุดยอดของการรวบอํานาจก็คือริบโอนเอาที่ดินทั้งมวลมาเป็นของกษัตริย์ ยกเลิกพวกเจ้าขุนมูลนายชุดเก่า แล้วจัดตั้งพวกเจ้าขุนมูลนายชุดใหม่ขึ้น พวกที่ตั้งขึ้นชุดใหม่นี้ โดยมากก็เลือกจากวงศ์วานว่านเครือเนื้อหน่อพงศ์เผ่าเหล่ากอศักดินาของพวกตนเอง หรือไม่ก็เลือกขึ้นจากข้าราช