หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/31

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๕๘  โฉมหน้าศักดินาไทย

แห่งชีวิตของประชาชนในสังคมศักดินามีดังต่อไปนี้ คือ

๑) ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมเป็นความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงตามชนชั้นโดยกําเนิด และตามอํานาจที่มีเหนือที่ดิน

ระบบศักดินาเป็นระบบที่พัฒนาการสืบสันตติวงศ์ของระบบทาสให้ก้าวขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง การสืบสันตติวงศ์หรือสืบสกุลของพวกนายทาสได้กลายมาเป็นการสืบสันตติวงศ์และสืบสกุลของพวกชนชั้นเจ้าที่ดิน การนับถือยกย่องมนุษย์โดยชาติกําเนิดได้พัฒนาขึ้นจนสูงสุดยอดในยุคนี้ พวกชนชั้นเจ้าที่ดินถูกยกย่อง หรือบังคับให้ประชาชนยกย่องขึ้นเป็น "เทวดา" เป็น "เจ้าฟ้า" เป็น "พระเจ้า" เป็น "พระพุทธเจ้า" เป็น "โอรสสวรรค์" ฯลฯ สรุปว่าเป็นเทวดาลงมาเกิดหรือเป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติ วงศ์วานว่านเครือของชนชั้นนี้ จึงได้รับความนับถือ และมีอํานาจกดขี่พวกไพร่ได้ตามความสูงส่งของโคตรตระกูล ความนับถือยกย่องที่พวกชนชั้นศักดินาได้รับย่อมผูกพันอยู่กับที่ดินเสมอไป ศักดินาที่ล้มละลายจะกลายเป็น "ผู้ดีตกยาก" และแล้วก็จะกลายเป็น "ผู้ดีแปดสาแหรก" ต่อจากนั้นก็เป็น "ผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน" เป็นพวก "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ" และกลายเป็นชนสามัญไปในที่สุด สถาบันของพวกนี้ จะคงอยู่ได้ก็โดยอํานาจในที่ดินที่ตนยังคงมีอยู่เท่านั้น พวกเจ้าที่ดินใหม่ที่เพิ่งมีที่ดิน ก็จะเริ่มมีอํานาจ เป็น "ผู้มีบุญวาสนา" เป็น "ผู้มีข้าทาสบริวาร" และการเป็นผู้ดีขึ้นในที่สุด

สําหรับพวกสามัญชนที่ไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยพอทํามาหากินลุ่มๆ ดอนๆ ไปได้ จะถูกเหยียดหยามลงเป็นพวก "ไพร่ราบ" เป็นพวก "มิจฉาทิฐิ" ต้องทน "รับใช้เวรกรรม" เป็น "คนชั้นตํ่า" ที่พระผู้เป็นเจ้าและเทวดาไม่โปรด การคบหาสมาคมระหว่างชนชั้นทั้งสองเป็นไปได้โดยยาก หรือถ้าเป็นไปได้ ชนชั้นไพร่