หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/34

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๖๑ 

๕) ขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ เป็นขนบธรรมเนียมที่พัวพันอยู่กับที่ดิน ทั้งนี้ เพราะชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องอยู่กับการทํางานบนผืนดิน แต่อย่างไรก็ดี ขนบธรรมเนียมและประเพณีเหล่านั้นก็ต้องถูกเหยียดเป็นของต่ำทราม เพราะเกิดขึ้นในหมู่ไพร่ราบ ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันเกิดจากที่ดินนั้นถ้าจะได้รับการยกย่องเน้นให้เห็นเด่นชัดก็จะต้องเป็นขนบประเพณีที่เป็นประโยชน์ต่อศักดินาเท่านั้น เช่น เอ็งอาศัยแผ่นดินของข้าทํามาหากิน เอ็งต้องเป็นหนี้บุญคุณข้า ยิ่งพวกที่เป็นทาสทํางานให้นายและกินข้าวของนายด้วยแล้ว พวกนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ บุญคุณของข้าวแดงแกงร้อน ส่วนงานที่ทาสทําให้นั้นไม่ต้องพูดถึง ดังนี้เป็นต้น อย่างไรก็ดี ขนบประเพณีต่างๆ ที่นับถือว่าสูงส่งและถูกต้องจักต้องเป็นขนบประเพณีในราชสํานักและสํานักผู้ดี ราชสํานักจะเป็นศูนย์กลางแห่งขนบประเพณีทั้งปวง แล้วถ่ายทอดลงมายังสํานักผู้ดี สํานักผู้ดีจึงถ่ายทอดลงมาสู่พวกลิ่วล้อแล้วพวกลิ่วล้อถ่ายทอดลงมายังไพร่ราบอีกทอดหนึ่ง พวกไพร่ที่ปราศจากความสํานึกในชนชั้น เมื่อปรารถนาจะได้เข้าสู่วงสังคมไม่เคอะเขินก็ต้องปฏิบัติตามขนบประเพณีของผู้ดี ที่ใครมีตีนขนาดโตเพราะเหยียบดินทํางาน ก็ต้องหมั่นชะล้างผูกรัดให้ตีนเล็กลงมีสีแดงอมเลือดอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ดีที่ไม่ทํางาน! ในตอนปลายของยุคศักดินาเมื่อระบบผลิตแบบทุนนิยมหรืออีกนัยหนึ่ง ระบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) พัฒนามาจนชนชั้นกลางเริ่มมีบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของตนแล้ว ขนบประเพณีต่างๆ ของพวกศักดินากลายเป็นโซ่ที่รัดร้อยชีวิตของพวกชนชั้นกลางอย่างยิ่ง ชนชั้นกลางมักจะถูกเยาะเย้ยถากถางโดยผู้ดีอยู่เสมอว่าเป็น "คางคกขึ้นวอ" "กิ้งก่าได้ทอง" เป็นพวก "ไม่เคยพบเคยเห็น" ซึ่งถ้าเป็นในฝรั่งเศสก็เรียกว่าพวก "Nouveauriche" พวกชนชั้นกลาง