หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/35

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๖๒  โฉมหน้าศักดินาไทย

ในระยะนี้ จึงพยายามอย่างสุดกําลังที่จะล้มล้างขนบประเพณีของชนชั้นศักดินาลง อาศัยอํานาจเงินอันเป็นอํานาจใหม่ทางเศรษฐกิจ ทําให้พวกชนชั้นกลางเด่นขึ้นในวงสังคม ความล้มละลายของชนชั้นศักดินาหนุนให้พวกชนชั้นกลางสถาปนาขนบประเพณีแบบเสรีนิยมของตนขึ้นใหม่ได้แต่อย่างไรก็ดี ท่าทีอันประนีประนอมของพวกชนชั้นกลาง ทําให้พวกเขายอมรับเอาขนบประเพณีส่วนหนึ่งของพวกศักดินาไว้ ยิ่งพวกชนชั้นกลางที่ซื้อตําแหน่งทางการเมืองด้วยเงินตราด้วยแล้วยิ่งพยายามรับทอดขนบประเพณีของพวกศักดินาไว้เต็มคราบ อิทธิพลของขนบประเพณีศักดินาจึงยังคงอยู่ต่อไปในสังคมทุนนิยม หาได้สูญหายไปโดยสิ้นเชิงไม่

๖) ศิลปะและวรรณคดี ศิลปะของสังคมศักดินาทั้งมวลมีทั้งศิลปะของประชาชนและศิลปะในราชสํานักและสํานักผู้ดี ศิลปะของประชาชนถูกเหยียบย่ำเป็นของต่ำ ศิลปะในราชสํานักที่รับใช้ชนชั้นศักดินาเท่านั้นที่ได้รับการส่งเสริมยกย่องเป็นแบบฉบับ วรรณคดีของสังคมศักดินาก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือเป็นวรรณคดีรับใช้ชนชั้นศักดินา สรุปว่าทั้งศิลปะและวรรณคดีถูกผูกขาดโดยชนชั้นศักดินาแต่ฝ่ายเดียว

ศิลปะและวรรณคดีของสังคมศักดินาในยุคต้นๆ เป็นศิลปะและวรรณคดีที่ดําเนินไปในคติ "ศิลปะเพื่อชีวิต" ซึ่งหมายถึงเพื่อชีวิตของชนชั้นศักดินาเท่านั้น! ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพในการผลิตศิลปะเพื่อรับใช้ชีวิตของพวกเขาเองได้ กรอบของขนบประเพณีและชีวิตทางเศรษฐกิจการเมือง จะบีบศิลปินไว้ในวงล้อมแห่งศิลปะเพื่อชีวิตของชนชั้นศักดินาทั้งสิ้น สภาพเช่นนี้ ทําให้ศิลปินรุ่นใหม่ของชนชั้นกลางในปลายยุคศักดินารู้สึกอึดอัด เขากําลังต่อสู้เพื่อระบบเศรษฐกิจ