หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/37

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
 ๖๔  โฉมหน้าศักดินาไทย

ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความจัดเจนในการต่อสู้ทางสังคมของมนุษย์ ซึ่งวิชานี้เป็นเสมือนตัวอย่างการต่อสู้ทางสังคมแห่งชีวิตของชนรุ่นหลัง การศึกษาประวัติศาสตร์จึงเป็นหัวใจแห่งการศึกษาความเป็นมาของสังคม เป็นกุญแจดอกสําคัญที่จะไขไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ศักดินาตระหนักในความจริงข้อนี้ดี จึงได้เข้าถือบังเหียนการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไว้ในกํามือเพื่อใช้วิชานี้ให้เป็นประโยชน์แก่ชนชั้นตน

นอกจากวิชาประวัติศาสตร์อันเป็นหัวใจของการแสดงตัวอย่างและการตีความจัดเจนของชีวิตของชนชั้นศักดินาแล้ว วิชาอื่นๆ ศักดินาก็จะสอดแทรกลงไปในคําสอนให้มีจุดประสงค์เพื่อรับใช้และเสริมสร้างสถาบันของศักดินาทั้งสิ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาว่าด้วยศีลธรรม กฏหมาย การปกครอง ฯลฯ ในยุคต้นๆ นั้นศักดินาถึงกับหวงห้ามมิให้ประชาชนได้ศึกษากฏหมายเลยทีเดียว สิ่งที่พอนับได้ว่าเป็นกฏหมายที่ศักดินาอนุญาตให้เรียนรู้ได้และจําเป็นต้องเรียนก็คือตําราว่าด้วยกฏเกณฑ์การเป็นมหาดเล็ก ข้อบังคับในพระราชฐานที่พวกข้าราชบริพารและประชาชนจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง

สรุปว่าลักษณะทางการศึกษาของศักดินาก็คือการผูกขาดการศึกษา อนุญาตให้เล่าเรียนได้แต่วิชาที่เป็นประโยชน์ต่อศักดินา

จุดมุ่งหมายอีกประการหนึ่งในด้านการศึกษาของศักดินาก็คือกดคนลงไว้ให้โง่ ไม่ส่งเสริมให้ฉลาด ทั้งนี้เพราะการกดขี่ขูดรีดคนฉลาดเป็นสิ่งที่กระทําได้ยาก การศึกษาในสมัยศักดินาจึงล้าหลัง แต่ในขณะเดียวกันศักดินาก็ต้องการคนฉลาดใช้คล่องไว้ปฏิบัติ "ราชการ" (คือธุรกิจของพระเจ้าแผ่นดิน) ศักดินาจะสร้างคนของเขาขึ้นมาไว้ใช้ โดยให้เข้ามาศึกษาในสํานักของผู้ดี สํานักของเจ้าขุนมูลนายและในราชสํานัก เด็กหญิงก็จะต้องร่ำเรียนเพื่อเป็น "ผ้า