หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/50

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๗๗ 

อันเป็นการก้าวไปสู่ระบบผลิตศักดินาในที่สุด

สาเหตุสุดท้ายของการสลายตัวแห่งระบบทาสก็คือการรุกรานของพวกเยอรมันกับพวกสแกนดิเนเวียนครั้งใหญ่เมื่อราว ค.ศ. ๑๐๐๐ ที่เรียกกันว่า การรุกรานของพวกอนารยชน การรุกรานของพวกนี้ ได้สกัดกั้นการแผ่อำนาจของรัฐทาสทั้งมวลในยุโรปไว้ และท้ายที่สุดก็ได้ทําลายรัฐทาสลงได้โดยเด็ดขาด พวกนายทาสที่ถูกฆ่าตายบ้าง หนีหายไปบ้าง ที่รัฐทาสทลายลงโดยง่ายเช่นนี้ ก็เพราะพวกนายทาสที่เป็นชนชั้นปกครองและเป็นนักรบมัวเมาระเริงสุขอยู่กับชีวิตอันฟุ้เฟ้อเหลวแหลกและกามารมณ์จนกําลังในการต่อสู้ลดถอยลง เสรีชนที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้ปกป้องรัฐทาสมีจํานวนน้อย ทางพวกทาสก็ไม่ยินดีจะปกป้องรัฐของนายทาส เพราะถ้าปกป้องไว้ก็เท่ากับช่วยรักษาการขูดรีดและแอกอันหนักอึ้งบนบ่าของตนไว้นั่นเอง ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คงเป็นรอยเดียวกับการพังทลายของอาณาจักรกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕ โดยการโจมตีของกองทัพไทย นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ที่เมืองนครธมอันมีกําแพงศิลาสูงตระหง่านล้อมรอบด้านละ ๔ กิโลเมตร มีเนื้อที่ภายในกําแพงเมืองถึง ๑๖ ตารางกิโลเมตร ต้องแตกในครั้งนั้นมิใช่ฝีมือกองทัพไทยฝ่ายเดียว หากเป็นเพราะฝีมือพวกทาสและประชาชนเขมรที่ถูกกดขี่โดยชนชั้นปกครองมานมนานและปรารถนาจะปลดแอกตนเองด้วย และแน่นอน กองทัพไทยก็คงใช้สงครามจิตวิทยาโดยประกาศว่า "ชาติเขมรชาติไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน" หรือ "เจ้าไทยใจดีกว่าเจ้าเขมร" หรือไม่ก็ "ไทยมาช่วยพี่น้องชาวเขมรปลดแอก" อะไรทํานองนี้ เหมือนกับที่เราเคยใช้ในครั้งศึกอินโดจีนและเหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยใช้เมื่อบุกประเทศไทย คือใช้ว่า "ญี่ปุ่นช่วยไทยปลดแอกเอเซียจากอังกฤษ" อะไรทํานองนี้ด้วย