หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/66

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๙๓ 

ร่องรอยอะไรบ้างไหมที่แสดงว่าไทยเคยมีระบบทาส และมีอะไรบ้างที่เป็นร่องรอยอันยืนยันได้จริงจังว่ายุคสุโขทัยนั้นมีทาส

ความสงสัยนี้ อาจขจัดให้หายไปได้ไม่ยาก หลักฐานที่จะแสดงว่าในยุคสุโขทัยเราก็มีทาส ก็คือศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงนั่นเอง

ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงตอนหนึ่งบรรยายถึงลักษณะการสืบมรดกว่า "ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใด" เกิดล้มหายตายจากลง สมบัติของพ่อไม่ว่าจะเป็นเหย้าเรือนก็ดี ช้างก็ดี ขอสับหัวช้างก็ดี ลูกเมียก็ดี ฉางข้าวก็ดี "ไพร่ฟ้าข้าไท ป่าหมาก ป่าพลู" ก็ย่อมตกทอดไปเป็นสมบัติของลูกทั้งสิ้น

ขอให้สังเกตคําว่า "ไพร่ฟ้าข้าไท" ในที่นี้ให้ใกล้ชิด "ไพร่ฟ้า" ในที่นี้มิได้แปลว่า "ประชาชน" อย่างที่เราเข้าใจในภาษาปัจจุบันเด็ดขาด จารึกเล่าอวดไว้ว่า พ่อมันตายก็ยก "ไพร่ฟ้า" ของพ่อมันให้ลูกมันรับมรดกไป พ่อมันจะมี "ประชาชน" เป็นสมบัติได้อย่างไร ไพร่ฟ้าในที่นี้ ก็คือพวกไพร่สม, ไพร่หลวง หรือพวกเลกสักสมกําลังในสังกัดของพ่อเมื่อพ่อตาย "เลก" ก็ต้องโอนไปเข้าสังกัดของลูกมันตามธรรมเนียมขอให้สังเกตด้วยว่าศิลาจารึกนี้ ใช้คําว่า "ไพร่ฟ้า" ในความหมายดังกล่าว พยานอีกอันหนึ่งก็คือ ตอนที่จารึกเล่าถึงเล่าถึงการรบระหว่างขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตอนนี้ ได้กล่าวถึงขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาตีเมืองตาก "พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย (คือโอบเข้าทางปีกซ้าย) ขุนสามชนขับเข้ามาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า (คือกระจkยกําลังล้อมเข้ามา) พ่อกูหนีญะญ่ายไพร่ฟ้าหน้าใสพ่ายจะแจ (คือหนีกระจัดกระจาย)" ในที่นี้ ไพร่ฟ้าหน้าใส ก็คือ ไพร่หลวง หรือทหาร ในระบบศักดินานั่นเอง! หาได้แปลว่า ประชาชน