หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/68

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๙๕ 

"เจ้าข้า" ก็คือ "เจ้าทาส" กฏหมายตอนนี้ ก็คือกฏหมายว่าด้วยการละเมิดทรัพย์สินนั่นก็คือการยักยอกทาสโดยแท้

ตามความจัดเจนเท่าที่ได้ผ่านมา พอยกหลักฐานอันนี้ พวกนักพงศาวดารของศักดินาก็โต้กลับมาว่ากฏหมายนี้ เป็นกฏหมายของกรุงสุโขทัยชั้นหลัง ทาสที่มีกล่าวถึงนั้น อาจจะเป็นการมีทาสที่รับเอาแบบอย่างขึ้นไปจากทางอยุธยาก็ได้ เขาโต้เช่นนี้จริงๆ

เมื่อเช่นนี้ ก็ขอพิสูจน์อีกครั้งหนึ่ง เอกสารที่จะพิสูจน์ก็คือศิลาจารึกครั้งสุโขทัยที่เพิ่งพบใหม่ อันเป็นจารึกที่ทําขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๕ ตอนหนึ่งในจารึกนั้นมีว่า

"ผิ (=แม้ว่า) ไพร่ ไท ช้าง ม้า ข้า... (จารึกลบ...)"๒๖

ประโยคนี้ แม้จะไม่จบ แต่มันก็บอกเราว่าในสุโขทัยมีทั้งไพร่ทั้งข้าสองอย่าง และอย่างที่สามคือ ไท (เสรีชน) ไพร่นั้นต้องเป็นคนละอย่างกับข้า เมื่อไพร่ก็คือเลกดังได้พิสูจน์มาแล้ว ข้ามันก็ต้องเป็นทาสจะเป็นอื่นไปไม่ได้ จริงอยู่เอกสารชิ้นนี้ เป็นเอกสารยุคปลายสมัยสุโขทัยลงมาก็จริง โดยตัวของมันเองแล้ว พวกศักดินาก็แย้งได้ตามเคยว่า ระบบข้าหรือทาสในที่นี้ สุโขทัยรับขึ้นไปจากอยุธยา แต่สิ่งที่เราต้องการพิสูจน์ให้พวกนักพงศาวดารศักดินาเห็นประจักษ์ก็คือ ในภาษาสมัยสุโขทัยนั้น ไพร่กับข้าแปลผิดกันแน่นอน ที่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคําแหงอันทําขึ้นตอนต้นของยุคสุโขทัยกล่าวถึงไพร่ด้วยข้าด้วยนั้นมันต้องหมายถึงเลกและทาส ตามคําแปลสมัยนั้นอย่างไม่มีข้อเถียง เมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคําแหงก็ปรากฏว่ามีทาสอย่างเถียงไม่ขึ้น

เมืองสุโขทัยที่ปราชญ์ฝ่ายศักดินาอวดอ้างว่ามีแต่ไทนั้น มีทาสอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย ข้าก็คือทาสและทาสก็คือข้า ข้าเป็นภาษาไทย ทาสเป็นภาษาบาลี เดี๋ยวนี้ เราก็ยังพูดกันว่า "ข้าทาสบริพาร"