หน้า:โฉมหน้าศักดินาไทย (9th ed).pdf/76

หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
จิตร ภูมิศักดิ์  ๑๐๓ 

พวกชุมชนชาติ "เมือง" ที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีการแบ่งปันที่ดินโดยพวกที่เป็นกวานลางและท้าว ถืออภิสิทธิ์เลือกที่ดินไว้ก่อน นาที่เหลือจึงปันไปสู่ครอบครัวมากบ้างน้อยบ้างตามกําลังผลิตและความต้องการของครอบครัวนั้นๆ แต่การแบ่งปันก็มิได้มีกําหนดระยะสม่ำเสมอ หากทําในแบบเดียวกันแถบหัวพันของลาว ฉะนั้นครอบครัวหนึ่งๆ จึงอาจครอบครองที่นาไปจนตลอดชีวิตของพ่อ เมื่อพ่อตายลง ลูกก็รับช่วงครอบครัวที่ดินต่อไป นี่ก็คือกําเนิดของทรัพย์สินเอกชนและการสืบมรดก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการแบ่งใหม่ได้ในกรณีที่จํานวนครอบครัวเปลี่ยนไป และการแบ่งใหม่นี้ โดยมากก็ไม่รวมเอานาทุกรายเข้ามารวมกันแล้วแบ่งกันใหม่ หากมักใช้วิธีนําเอานาบางรายมาแบ่งเท่านั้น

ลักษณะของการครอบครองที่ดินของชุมชนเชื้อชาติไทยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ตามการสํารวจปรากฏว่าอํานาจการครอบครองมักจะเริ่มมีระยะยาว ไม่เปลี่ยนมือกันบ่อยครั้งนัก ชาวบ้านเริ่มมีความรู้สึกขึ้นบ้างเล็กน้อยว่ามีกรรมสิทธิเหนือที่นา ในที่นี้ พึงสังเกตไว้ว่า ที่ดินที่จะต้องเวนคืนมาแบ่งปันกันใหม่นั้น มีแต่ที่นาแต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่ที่ใช้สําหรับปลูกเรือนพร้อมด้วยทําสวนครัวโดยมากไม่ต้องเวนคืนแบ่งปันใหม่ผืนดินที่ตั้งบ้านเรือนจึงเป็นกรรมสิทธิถาวรตกทอดไปสู่ลูกหลาน ในบางหมู่ก็ยอมให้ซื้อขายกันได้ด้วย ส่วนป่าดงรกร้าง ประมุขก็ถืออภิสิทธิ์ยึดเอาเป็นเจ้าของ ถ้าใครจะไปแผ้วถางก็จะมีสิทธิครอบครองเด็ดขาด แต่ต้องเสียภาษีให้แก่ประมุข ในชั้นหลังๆ ที่สุดนี้ แม้ที่นาก็ชักจะไม่ค่อยแบ่งปันกันนัก ระบบการแบ่งปันก็กําลังสูญหายไป ดังที่ได้เคยสูญไปแล้วในชุมชนไทยขาว นานๆ การแบ่งปันจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง โดยมากมักเป็นในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งๆ มีกําลังลดน้อยลงไม่