หน้า:Constitutional Court Order 2555-67-69.pdf/2

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๒ –

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องทั้งสามมีประเด็นแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาสั่งคำร้อง จึงมีคำสั่งให้รวมคำร้องทั้งสาม (เรื่องพิจารณาที่ ๕๕/๒๕๕๕ เรื่องพิจารณาที่ ๕๘/๒๕๕๕ และเรื่องพิจารณาที่ ๕๙/๒๕๕๕) เข้าด้วยกัน โดยให้เรียกนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ว่า ผู้ร้องที่ ๑ นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ผู้ร้องที่ ๒ นายสิงห์ทอง บัวชุม ผู้ร้องที่ ๓ และให้เรียก พลเอก บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ว่า ผู้ถูกร้องที่ ๑ นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกร้องที่

ข้อเท็จจริงตามคำร้องทั้งสามและเอกสารประกอบสรุปได้ดังนี้

คำร้องที่หนึ่ง (เรื่องพิจารณาที่ ๕๕/๒๕๕๕)

ผู้ถูกร้องที่ ๑ เป็นประธานองค์การพิทักษ์สยาม ได้จัดให้มีการชุมนุมที่ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยใช้ชื่อว่า "หยุดวิกฤตและหายนะของชาติ" เพื่อขับไล่รัฐบาล โดยมีผู้ถูกร้องที่ ๒ เข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยว่ามีแผนการล้มรัฐบาล หลังจากการชุมนุมยุติลง ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้นัดให้มีการชุมนุมอีกครั้งปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ต่อมา ผู้ถูกร้องที่ ๑ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันเวลาและโอกาสต่าง ๆ ว่า หากประชาชนมาร่วมชุมนุมเกิน ๑ ล้านคนก็ล้มรัฐบาลได้ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา แต่ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ให้ตั้งคณะทำงานในรูปแบบคณะปฏิวัติโดยประชาชน

ผู้ร้องที่ ๑ เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ ๑ และผู้ถูกร้องที่ ๒ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อล้มล้างรัฐบาลจึงไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งยังเข้าลักษณะการล้มล้างอำนาจบริหาร หรือเพื่อให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบริหารไม่ได้ อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และผู้ถูกร้องทั้งสองได้นัดให้มีการชุมนุมอีกครั้งปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ผู้ร้องที่ ๑ ในฐานะผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองและผู้เกี่ยวข้องเลิกกระทำการนัดชุมนุมครั้งต่อไป และถ้าผู้เกี่ยวข้องนั้นเป็นพรรคการเมืองใด ขอให้วินิจฉัยสั่งการหรือมีคำสั่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสาม และวรรคสี่