หน้า:Constitutional imperialism in Japan (IA constitutionalim00clemrich).pdf/76

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
66
[ปี 6
ระบอบจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญในญี่ปุ่น

[รัฐมนตรีลงนามรับสนองพระราชโองการ]

หมวด 1 การเรียกประชุม การจัดองค์กร และการเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิ

มาตรา 1 ประกาศพระราชโองการเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิซึ่งกำหนดวันให้มาชุมนุมกันนั้น ให้ออกล่วงหน้าอย่างน้อยสี่สิบวัน

มาตรา 2 ให้สมาชิกชุมนุมกันในโถงแห่งสภาของตน ณ วันที่ระบุในประกาศพระราชโองการเรียกประชุม

มาตรา 3 ให้จักรพรรดิทรงเสนอชื่อทั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากบรรดาผู้สมัครสามคนซึ่งสภาเลือกตั้งมาสำหรับตำแหน่งเหล่านั้นแต่ละตำแหน่งตามลำดับ

ให้หัวหน้าเลขานุการปฏิบัติกิจหน้าที่ของประธาน จนกว่าประธานและรองประธานจะได้รับการเสนอชื่อ

มาตรา 4 ให้แต่ละสภาแบ่งจำนวนสมาชิกของตนออกเป็นกลุ่ม ๆ ด้วยการจับฉลาก และในแต่ละกลุ่มให้มีหัวหน้าซึ่งมาจากและได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกของกลุ่มนั้น

มาตรา 5 เมื่อมีการจัดองค์กรแห่งสภาทั้งสองแล้ว ให้กำหนดวันเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งจักรวรรดิด้วยพระราชบัญชา และให้ดำเนินพิธีเปิดประชุมโดยจัดให้สมาชิกสภาทั้งสองมาชุมนุมกันในสภาขุนนาง

มาตรา 6 ณ โอกาสที่อ้างถึงในมาตราก่อน ให้ประธานสภาขุนนางปฏิบัติกิจหน้าที่ของประธาน

หมวด 2 ประธาน เลขานุการ และค่าใช้จ่าย

มาตรา 7 ในแต่ละสภา ให้มีประธานหนึ่งคน และรองประธานหนึ่งคน

มาตรา 8 วาระดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ให้เป็นอย่างเดียวกับวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 9 เมื่อตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรว่างลงเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งนั้นลาออกหรือเนื่องจากเหตุผลอื่นใด ให้ผู้สืบตำแหน่งมีวาระดำรงตำแหน่งเท่ากับของผู้ดำรงตำแหน่งก่อนตน

มาตรา 10 ให้ประธานแต่ละสภารักษาความเรียบร้อยในสภาตน วางกฎการอภิปราย และเป็นผู้แทนสภาตนภายนอกสภานั้น

(386)