หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/1

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
  • กรมราชเลขาธิการ
  • วันที่ ๒๙ กรกฎา ๒๔๖๙
สำเนา
วังศุโขทัย
 
23 กรกฎาคม 1926
ถึง ดร.แซร์[1]

พร้อมกันกับจดหมายฉบับนี้ ข้าพเจ้าขอส่งบันทึกว่าด้วยปัญหาบางประการของสยามกับแบบสอบถามมาให้ท่านพิจารณา ข้าพเจ้าเกรงว่า ได้รีบเขียนบันทึกนั้นไปหน่อยเพื่อจะได้ส่งถึงท่านให้ทันก่อนที่เราจะสนทนากันในวันพรุ่ง พรุ่งนี้เราจะคุยกันเบื้องต้น ซึ่งเราจะได้ถกคำถามเหล่านั้นกันได้เต็มที่ยิ่งขึ้น เมื่อท่านพิจารณาคำถามอย่างเต็มที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ได้คำตอบจากท่านเป็นลายลักษณ์อักษร

บันทึกนี้มิได้หยิบยกปัญหาทุกประการในบ้านเมืองมากล่าวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเพียงเอ่ยถึงข้อที่เห็นว่าสำคัญ หากท่านมีความเห็นอื่นใดนอกจากที่อยู่ในข่ายของคำถาม ก็ยินดีรับฟังอย่างยิ่ง

ข้าพเจ้าหวังว่า ท่านจะได้รับความสะดวกสบายที่โรงแรมพญาไท

  • ด้วยใจจริง
  • (พระบรมนามาภิไธย) ประชาธิปก ป.ร.
ปัญหาของสยาม
1. ระเบียบการปกครอง[2]
ก) ตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน  พระเจ้าแผ่นดินสยามย่อมมาจากการสมมติ[3] ของผู้คน ในสมัยก่อน มีการประกอบพิธีสมมติ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ จะมีการประชุมสภาอันประกอบด้วยพระราชวงศ์ เสนาบดีแห่งรัฐ[4] และผู้สูงศักดิ์ในศาสนจักร จากนั้น เจ้าชายหรือเสนาบดีที่มีอาวุโสจะเสนอว่า พึงยกเจ้าชายพระองค์นั้นพระองค์นี้ขึ้นสู่ราชสมบัติ และถามว่า มีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วไม่มีใครตอบคำถามนี้ แต่
  1. พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
  2. ตาม Dictionary.com (2020a) "constitution" สามารถหมายถึง (1) ระบบระเบียบการบริหารองค์การ ประเทศ ฯลฯ และ (2) เอกสารว่าด้วยระบบระเบียบดังกล่าว นอกเหนือไปจากความหมายอื่น ในที่นี้ เมื่อพิเคราะห์เนื้อหาโดยรวม และการใช้คำนี้ในส่วนอื่น ๆ แล้ว เห็นว่า ไม่ได้หมายถึงเอกสาร จึงแปลว่า "ระเบียบการปกครอง"
  3. ต้นฉบับว่า "elect" ในที่นี้แปลว่า "สมมติ" ตามประเพณี ดังในถ้อยคำว่า "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (ผู้คนหมู่ต่าง ๆ มาประชุมกันกำหนดขึ้น) หรือ "พระมหาสมมติ" (พระนามกษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งตำนานพุทธศาสนาระบุว่า มาจากการที่ผู้คนพร้อมใจกันกำหนดให้เป็น) ทั้งนี้ "สมมติ" มีความหมายตรงตัวว่า ความคิดเห็นเสมอกัน, ความคิดเห็นเท่ากัน ฯลฯ มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สม" (เสมอกัน) + "มติ" (ความคิดเห็น) ส่วนในที่อื่น ๆ จะแปล "elect" ว่า "เลือกตั้ง" ตามปรกติ
  4. อาจเรียกว่า "เสนาบดีฝ่ายอาณาจักร" หากเทียบกับถ้อยคำตามประเพณี เช่น ในประกาศยกรัชกาลที่ 5 ขึ้นครองราชย์ (ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, 2472, น. 29) มีว่า "ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารและพลเรือน ทั้งพระพุทธจักรและพระราชอาณาจักร ประชุมในพระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งจะสอดคล้องกับถ้อยคำในภาษาอังกฤษที่ว่า "minister of state" อันสื่อว่า เป็น minister ฝ่ายรัฐ ตรงกันข้ามกับ "minister of the church" คือ minister ฝ่ายศาสนจักร (หมายถึง ศาสนาจารย์)