หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/25

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
เค้าโครงร่างเบื้องต้น
มาตรา 1

อำนาจสูงสุดทั่วราชอาณาจักร ให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน

มาตรา 2

ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งมหาเสนาบดี[1] คนหนึ่ง ซึ่งจะรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินในงานบริหารทั้งปวงของรัฐบาล พระเจ้าแผ่นดินจะทรงถอดถอนผู้นั้นเมื่อใดก็ได้

มาตรา 3

ให้มหาเสนาบดีแต่งตั้งเสนาบดีแห่งรัฐซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงทั้งหลายในรัฐบาล และจะถอดถอนบุคคลเหล่านั้นก็ได้ภายใต้ความรับผิดชอบของตนเอง ให้มหาเสนาบดีรับผิดชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินในงานทั้งหมดของกระทรวงแต่ละแห่ง ทั้งให้มีหน้าที่ที่จะดำเนินนโยบายทั่วไปของรัฐบาลตามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบังคับบัญชา และที่จะประสานงานของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

มาตรา 4

ให้เสนาบดีแต่ละคนในรัฐบาลรับผิดชอบโดยตรงต่อมหาเสนาบดีในงานของกระทรวงตน ให้เสนาบดีเป็นผู้ช่วยดำเนินนโยบายทั่วไปตามที่มหาเสนาบดีบังคับบัญชา

มาตรา 5

คณะเสนาบดีนั้น ให้มหาเสนาบดีเรียกประชุมและเป็นประธาน และให้ประกอบด้วยเสนาบดีแห่งรัฐทุกคน คณะเสนาบดีจะอภิปรายกิจการที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมก็ได้ แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจทั้งปวงนั้นให้อยู่ที่มหาเสนาบดี

มาตรา 6

มหาเสนาบดีจะได้ทูลเสนอปัญหาทั้งปวงในนโยบายทั่วไประดับใหญ่ต่อพระเจ้าแผ่นดินเพื่อทรงวินิจฉัย ให้มหาเสนาบดีอยู่ภายใต้ความควบคุมโดยตรงของพระเจ้าแผ่นดินในกิจการทั้งปวง

มาตรา 7

ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งอภิมนตรีสภา[2] ซึ่งมีสมาชิกห้าคน ให้มหาเสนาบดีเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง แต่มิให้เจ้าหน้าที่คนอื่นใดในคณะเสนาบดีเป็นสมาชิก มิให้อภิมนตรีสภาใช้อำนาจบริหารไม่ว่าจะเป็นประการใด กิจหน้าที่ของอภิมนตรีสภานั้นให้มีแต่การถวายคำแนะนำต่อพระเจ้าแผ่นดินในปัญหาทางนโยบายทั่วไปหรือในปัญหาอื่นนอกจากงานบริหารของรัฐบาลในเชิงรายละเอียดเมื่อได้รับเรียกให้ดำเนินการเช่นนั้น มิให้อภิมนตรีสภามีอำนาจแนะนำเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือเกี่ยวกับรายละเอียดในการบริหาร ทว่า ให้อภิมนตรีสภามีอำนาจตั้งกระทู้ถาม[3] มหาเสนาบดีหรือเจ้าหน้าที่คนใด ๆ ในคณะเสนาบดี

  1. ต้นฉบับใช้ทั้ง "prime minister" และ "premier" ในคำแปลนี้จึงใช้ "อัครมหาเสนาบดี" กับ "prime minister" และ "มหาเสนาบดี" กับ "premier" เพื่อแสดงความแตกต่างทางถ้อยคำเท่านั้น
  2. ชื่อเต็ม คือ "อภิรัฐมนตรีสภา" ภาษาอังกฤษใช้ว่า "Supreme Council of State" ดูเพิ่มเติมที่ สถานีย่อย:อภิรัฐมนตรีสภา
  3. "interpolate" แปลว่า แทรก, สอดแทรก ฯลฯ ซึ่งฟังดูไม่เข้าที อาจเป็นการเขียนหรือพิมพ์ "interpellate" (ซักถาม, ตั้งกระทู้ถาม ฯลฯ) หรือ "interrogate" (ซักถาม, ไต่ถาม, สอบถาม ฯลฯ) ผิด ในที่นี้แปลตามความหมายของ "interpellate"