หน้า:Draft Constitution of King Prajadhipok (1926).pdf/29

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๙๕

การบริหารโดยวิธีการที่จะสร้างความพึงพอใจในทุกสถานให้แก่สาธารณชน หากผู้นั้นไม่ตระหนักในความคาดหวังของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังที่ไร้เหตุผลเพียงใดก็ตาม ผู้นั้นก็คงตกอยู่ในภาวะที่มีคำก่นด่ากองท่วมหัว ซึ่งจะทำให้อัครมหาเสนาบดียากที่จะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของสาธารณชนได้ ไม่ว่าจะในระยะเวลาสั้นยาวเท่าใดก็ตาม นอกจากนั้น ต่อให้มีสติปัญญาและความสามารถอย่างใดก็ดี อัครมหาเสนาบดีก็ต้องดำเนินงานของตนโดยอาศัยพระบรมราชานุมัติของพระเจ้าแผ่นดินกับทั้งการสนับสนุนอย่างซื่อตรงและความช่วยเหลืออย่างมีสมรรถภาพจากเสนาบดีแห่งรัฐ แล้วอัครมหาเสนาบดีจะมั่นใจในเรื่องนี้ได้ฉันใด? มีการเสนอทีเดียวว่า ควรที่อัครมหาเสนาบดีจะมีอำนาจถอดถอนและเลือกสรรเสนาบดี แต่อำนาจเช่นว่านั้น มองกันตลอดมาว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดินแต่พระองค์เดียว และยังถือกันว่า เป็นเสาหลักสำหรับป้องกันแผนร้ายส่วนตัวของผู้อื่น การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้อำนาจนั้นในอภิสภา กับการที่ทรงให้อัครมหาเสนาบดีมาใช้อำนาจดังกล่าวภายใต้พระบรมราชานุมัตินั้น จะแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง หากมองกันว่า การมีคณะผู้ทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลังพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นสิ่งน่าทุเรศ แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าให้มีของอัครมหาเสนาบดีขึ้นมาอีกคณะ? ลองสมมติว่า การณ์ไม่ไปเป็นไปดังที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูล ทีนี้ ถ้ามหาเสนาบดีเห็นว่า เสนาบดีแห่งรัฐคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ไร้ความสามารถแล้วไซร้ ใครเล่าที่เขาจะเลือกสรรมาเป็นแทน? ตามธรรมดาเขาย่อมเลือกสรรคนที่เขาไว้ใจในความสามารถและความซื่อตรงต่อเขา ตรงนี้เราคงมองเห็นถึงลักษณะของการเริ่มการปกครองด้วยพรรคการเมืองในสยาม แต่ถ้าไร้การควบคุมจากรัฐสภาแล้ว ก็มีแนวโน้มที่ลักษณะอย่างนั้นจะกลายเป็นการปกครองด้วยกลุ่มก๊กไปได้ง่าย ๆ

7. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระประมุขและอัครมหาเสนาบดีนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดเช่นกัน คงเป็นความเพ้อฝันถ้าจะคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินกับอัครมหาเสนาบดีจะมีความเห็นลงรอยกันเสมอไป หรือถ้าจะคาดหมายทีเดียวว่า อัครมหาเสนาบดีทุกคนจะเป็นที่พอพระทัยและไว้วางพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินในระดับเดียวกัน หากพระเจ้าแผ่นดินทรงประสงค์จะปลดอัครมหาเสนาบดี พระองค์ก็คงจะต้องหาเหตุผลที่ชวนคล้อยตามเพื่อจะกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าไม่มีรัฐสภาแล้วไซร้ ใครเล่าจะคอยจัดหาเหตุผลที่น่าเชื่อถืออันจะเป็นการปกป้องพระบรมราชวินิจฉัยมิให้ถูกมองว่าอยุติธรรมและพลการ? อัครมหาเสนาบดีที่ถูกปลดคงไม่ป่าวประกาศความผิดของตัวเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และเพราะอัครมหาเสนาบดีนั้นเป็นมหาบุรุษ เขาย่อมมีผู้นิยมชมชอบซึ่งเห็นคล้อยตามเขาอยู่ไม่มากก็น้อย และ ณ จุดนี้ เราจะเห็นลักษณะของการริเริ่มให้มีฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการในสยาม ซึ่งก็ไร้การควบคุมจากรัฐสภาอยู่เหมือนเดิม แต่ความวิบัติคงอุบัติแน่ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงประสงค์จะปลดอัครมหาเสนาบดี และผู้นั้นได้รับความสนับสนุนจากประชาชนโดยทั่วกัน แม้ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว

8. มีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งในสยามยังแตกต่างจากประเทศทางยุโรปที่มีรูปแบบการปกครองด้วยอัครมหาเสนาบดี ในประเทศอย่างอังกฤษหรือฝรั่งเศสที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลตามเจตจำนงของรัฐสภา หรือแม้ในรัสเซียสมัยก่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงเสนาบดีตามพระราชประสงค์ขององค์กษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง ในประเทศเหล่านั้น ได้จัดระเบียบกรมกองราชการให้ข้าราชการประจำเป็นผู้ขับเคลื่อนการงาน ส่วนเสนาบดีนั้นเพียงแต่กำกับนโยบาย ฉะนั้น การเปลี่ยนเสนาบดีจึงไม่กระทบกระเทือนการงานของกรมกอง ทีนี้ ในสยามเรา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในสมัยปัจจุบันนี้ และข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่า คงจะอีกสักช่วงในอนาคตด้วย เสนาบดีเป็นกระดูกสันหลังของกระทรวงที่ตนเป็นหัวหน้า ความสามารถของเสนาบดีนั้นยังเห็นได้ชัดว่ามีผลต่อการจัดระเบียบและการงานในกรมกองนั้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงหาผู้มีความสามารถจริง ๆ มาเป็นหัวหน้ากรมกองในกระทรวงได้ยาก แม้จะไม่เปลี่ยนตัวเสนาบดีอย่างสม่ำเสมอก็ตาม