หน้า:Siam (IA siampeepsatmany00youn).pdf/109

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ช้างเผือก
บทที่ 17
ช้างเผือก

สยามได้รับการเรียกขานว่า "ดินแดนช้างเผือก" และการเล่าถึงประเทศดังกล่าวโดยไม่มุ่งความสนใจไปที่เจ้าสัตว์พิลึกเหล่านี้ คงจะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่สมบูรณ์ ช้างเผือกมีอยู่บนพื้นสีชาดในธงชาติ[1] ธงทางการค้าก็มีช้างเผือกอยู่บนพื้นสีฟ้า[2] และตามวัดวากับอาคารราชการทุกแห่งก็มีสัตว์อันชวนอัศจรรย์ใจนี้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างอยู่ในศิลา ไม้ และปูน

ในกาลก่อน พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงรู้สึกว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินอย่างเต็มที่ จนกว่าจะทรงมีช้างเผือกอยู่ในครอบครอง และพระองค์ไม่ทรงรีรอที่จะก่อสงครามเพื่อให้ได้สัตว์หายากเหล่านี้มาสักตัว มีเรื่องหนึ่งเล่าว่า โคตมะ[3] ทรงเคยเป็นช้างเผือก และพระมารดา[4] ของโคตมะทรงฝันว่า ได้พบโคตมะในร่างนั้นในสรวงสวรรค์[5] อีกตำนานหนึ่งว่า ในประวัติศาสตร์โลกจะบังเกิดราชาผู้พิชิตและครอบครองชาติทั้งหลายภายใต้ดวงตะวันอยู่เป็นระยะ ๆ ราชาเช่นนี้จะบ่งชี้ได้ด้วยสัญลักษณ์บางประการและด้วยการครอบครองวัตถุบางประการ ในบรรดาสิ่งจำเพาะเจ็ดสิ่งที่ราชาเป็นเจ้าของนั้น มีช้างเผือกเป็นรายการหนึ่ง และหากไร้ซึ่งช้างเผือกแล้ว ราชาจะไม่อาจครองโลกได้เลย อนึ่ง ชาวสยามหลายคนเชื่อว่า เจ้าสัตว์นี้เป็นที่สิงสถิตแห่งวิญญาณของมหาบุรุษในอดีตบางคน หรือของบางคนซึ่งยังไม่ถือกำเนิด แต่จะได้มาบังเกิดเป็นผู้ยิ่งบารมีในเวลาที่เหมาะสม

ในสมัยก่อน มีการห้ามพสกนิกรเก็บรักษาช้างเผือกเอาไว้ หากเผอิญพบเข้าตัวหนึ่ง ก็ต้องเร่งนำมาถวายพระเจ้าแผ่นดิน ถ้ากล้าลองเก็บไว้

  1. ดู รูปที่ 1
  2. ดู รูปที่ 2
  3. คือ เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งผนวชแล้วเป็นที่รู้จักว่า พระโคตมพุทธเจ้า
  4. คือ พระนางมายา (สิริมหามายา)
  5. วรรณกรรมศาสนาพุทธมักระบุว่า พระนางมายาทรงฝันถึงช้างเผือก แล้วจึงทรงครรภ์เจ้าชายสิทธัตถะ เช่น ปฐมสมโพธิกถา (ปรมานุชิตชิโนรส, 2478, น. 47–48) ว่า "ในเพลาราตรีปัจจุสสมัย ทรงพระสุบินนิมิตต์ว่า...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ลงมาจากกาญจนบรรพ...ชูซึ่งงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวพึ่งบานใหม่มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตระหลบ แล้วร้องโกญจนาทเข้ามาภายในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบันทมถ้วน 3 รอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทรประเทศฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี พอบันทมตื่นขึ้น...พระมหาสัตว์เสด็จลงสู่ปฏิสนธิ"
10–2
75