หน้า:Siam (IA siampeepsatmany00youn).pdf/111

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
ช้างเผือก

ยามใดที่ช้างดูตื่นตัวและกระปรี้กระเปร่า เหล่านางรำจะร้องรำให้ช้างชม ยามใดที่ช้างหิว จะมีการนำพืชผักผลไม้ชั้นยอดมาป้อนให้ ก็เป็นธรรมดาที่ชีวิตแบบเกียจคร้านและฟุ่มเฟือยเช่นนี้จะนำพามฤตยูมาสู่ช้างในไม่ช้า

เพิ่งจะสัก 30 ปีที่แล้วนี้เองที่นักล่ากลุ่มหนึ่งได้เห็นช้างซึ่งเลิศทั้งรูปร่างและขนาดอยู่ลิบ ๆ ในระหว่างออกหาช้างเผือก แต่ช้างนั้นไร้สีใดอย่างเจาะจง พอเพ่งพิศใกล้ขึ้นอีกนิด คนเหล่านั้นก็หลงคิดไปว่า ช้างนี้อาจเป็นพันธุ์หายากที่พวกตนกำลังเสาะหาอยู่ จึงจับช้างนั้นไป และชำระโคลนไคลออก และแล้ว ก็ต้องดีใจกันยกใหญ่ ด้วยพบว่า ใช่แต่ช้างจะมีสีอ่อน แต่ที่หลังมันยังมีขนหน่อยหนึ่งซึ่งมีสีขาวชัดเจน ทั้งประเทศจึงแตกตื่นด้วยความยินดี ในบางกอกมีการประดับธงและติดประทีปยามค่ำ ทุกที่ทุกสถานล้วนเบิกบานด้วยทิวธง แสงไฟ และเสียงเพลง พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปพบสัตว์นั้น และนักบวชโอมอ่านถ้อยคำเยินยอยืดยาวให้มันฟัง

ครั้นแล้ว นักบวชก็สมโภช[1] สัตว์นั้น แล้วมอบชื่อและยศใหม่ให้แก่มัน โดยมีถ้อยคำมากมายเหลือเกิน และเขียนไว้บนอ้อยชิ้นหนึ่ง[2] ซึ่งเจ้าช้างกลืนกินเข้าไปในทันที นี่น่าจะเป็นส่วนเดียวในพิธีที่ยังความพอใจให้แก่ช้างได้บ้าง แล้วช้างก็ได้รับการนำไปสู่เคหาสน์แห่งใหม่ และได้รับการเลี้ยงดูอยู่ที่นั่นจากบ่าวไพร่ที่คลานเข่า ผู้เฝ้าปรนเปรอมันด้วยอาหารจากจานทำด้วยเงิน

บัดนี้ สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปมาก คราวที่พบช้างเผือกเชือกล่าสุดนั้น มีการส่งช้างมาบางกอกโดยทางรถไฟ ไม่มีกองทหารเกียรติยศ ไม่มีกระบวนแหนแห่ และพระเจ้าแผ่นดินเพียงแต่เสด็จไปเยี่ยมเยียนยามที่ช้างได้รับการจัดให้อยู่ในคอก ระหว่างทางมาพระราชวัง 

  1. คำว่า "baptize" ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ทำพิธีทางศาสนาคริสต์ที่เรียกว่า ศีลล้างบาป (baptism) ให้ ซึ่งจะมีการมอบชื่อใหม่ให้ด้วย (Dictionary.com, 2022) ดังนั้น ในที่นี้จึงหมายถึง พิธีสมโภชและตั้งนาม ดังมีตัวอย่างใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (ทิพากรวงศฯ, 2548, น. 189) ซึ่งกล่าวถึงการรับช้างเผือกเมื่อ พ.ศ. 2406 ว่า "ครั้นเวลาบ่าย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีการมหรสพทำขวัญ 3 วัน 3 คืน...จารึกชื่อในท่อนอ้อยว่า พระเสวตรสุวรรณาภาพรรณ...ประทานให้ช้างรับต่อพระหัตถ์ เสร็จ การสมโภช ตั้งชื่อแล้ว ก็แห่เข้ามาผูกยืนโรงไว้ที่ทำใหม่ สวดมนต์ทำขวัญ 3 วัน"
  2. หอพระสมุดวชิรญาณ (2470, น. 30–31) บรรยายพิธีมอบชื่อแก่ช้างเผือกว่า "พระโหราธิบดีถวายพระฤกษ์จะได้ขนานชื่อพระยาช้างเผือก...อาลักษณลงอักษรเปน พระยาเศวตกุญชร บวรพาหนาถ...ลงในท่อนอ้อย แล้วพระหมอเถ้าจารึกเทวมนต์ลงในท่อนอ้อย ครั้นได้ฤกษ์...พระวิเชียรปรีชา ราชบัณฑิต รับเอาพานทองรองท่อนอ้อยต่อพระหมอเถ้าเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงรับเอาท่อนอ้อยไปพระราชทานพระยาช้างเผือกผู้ต่อพระหัตถ์"
77