หน้า:Sources of ancient Siamese law (Masao T, 1905).pdf/2

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
29
ที่มาแห่งกฎหมายโบราณของสยาม

นำเสนอตัวบทจากกฎหมายโบราณของสยามที่จะแสดงให้เห็นว่า กฎหมายโบราณเหล่านี้มีที่มาจากระบบกฎหมายฮินดู ถ้าผู้เขียนเป็นนักภาษาศาสตร์หรือนักโบราณคดี ก็คงรู้สึกมั่นใจได้ว่า จะสามารถนำข้อเท็จจริงทางภาษาศาสตร์หรือโบราณคดีที่น่าสนใจออกมากสงเคราะห์ตนเองในงานชิ้นนี้ แต่อย่างเดียวที่ผู้เขียนเป็น คือ นักกฎหมายสายอาชีพ ผู้เขียนจึงได้แต่พึ่งพาตัวบทที่ผ่านหูผ่านตามาในระหว่างศึกษากฎหมายโบราณของสยาม

สิ่งแรก ๆ ที่สะกิดใจผู้เขียนตอนเริ่มศึกษากฎหมายโบราณของสยามราวแปดปีก่อนนั้น คือ ความคล้ายคลึงกันอย่างเห็นได้ชัดของกฎหมายสยามกับกฎหมายฮินดูในแง่ของการแบ่งหัวเรื่องหรือชื่อเรื่อง ในประมวลกฎหมายพระมนู อันเป็นแบบฉบับตำรากฎหมายฮินดูนั้น มีการแบ่งส่วนกฎหมายแพ่งและอาญาทั้งหมดออกเป็น 18 หัวเรื่องหลัก ตามคำแปลของศาสตราจารย์บือเลอร์[1] หัวเรื่องหรือมูลคดีทั้ง 18 นี้ ได้แก่

(1) หนี้

(2) ฝาก และจำนำ

(3) ขายโดยไม่มีกรรมสิทธิ์

(4) ความเกี่ยวพันในหมู่หุ้นส่วน[2]

(5) เอาสิ่งที่ให้แล้วคืน

(6) จ้างแรงงาน

(7) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

(8) บอกเลิกการซื้อขาย

(9) ข้อพิพาทระหว่างเจ้าของปศุสัตว์กับคนรับใช้ของตน

(10) ข้อพิพาทเรื่องเขตแดน

(11) ทำร้ายร่างกาย

(12) หมิ่นประมาท

(13) ลักทรัพย์

(14) ปล้นทรัพย์ และประทุษร้าย

(15) กระทำชู้

(16) หน้าที่ของสามีและภริยา

(17) แบ่งมรดก

(18) พนันขันต่อ (พระมนู เล่ม 8 หน้า 4–8)

ในเรื่องเดียวกันนี้ พระธรรมศาสตร์[3] ของสยามระบุว่า "มูลอันก่อให้เกิดคดีความมีดังนี้"[4] แล้วลำดับหัวเรื่องทั้ง 18 นี้ด้วยถ้อยคำที่แทบจะไม่ผิดจากกัน ก่อนจะเพิ่มเข้าไปอีก 11 หัวเรื่อง เป็นต้นว่า ลักพา กบฏ สงคราม ราชทรัพย์ และภาษี ฯลฯ

ความคล้ายคลึงกันเช่นนั้นยังเห็นได้ในแง่ของการจัดประเภททาส ในประมวลกฎหมายพระมนู ทาสจัดออกเป็นประเภทดังนี้

(1) ผู้เคยตกเป็นเชลยศึก

(2) ผู้กลายเป็นทาสเพียงเพื่อให้ท้องอิ่ม

(3) ผู้เกิดจากทาสหญิงในบ้านของนายทาส

(4) ผู้ถูกซื้อมา

(5) ผู้ถูกมอบให้

(6) ผู้ที่ได้รับมาจากมรดกของบุพการี และ

(7) ผู้กลายเป็นทาสเพราะจ่ายค่าปรับจำนวนมากไม่ไหว (พระมนู เล่ม 8 หน้า 4–15)

ในเรื่องนี้ ลักษณะทาส[5] ของสยามเริ่มโดยกล่าวว่า ทาสมีเจ็ดประเภท 


  1. อาจหมายถึง เกออร์ค บือเลอร์ (Georg Bühler) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. อาจตรงกับที่พระธรรมสาตรว่า "วิวาทด้วยปันหมู่ชาเปนมูล" (แลงกาต์ 2481a, น. 29) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. ชื่อประมวลกฎหมายโบราณของสยาม เป็นเรื่องน่าสนใจชวนให้สังเกตว่า ชื่อ "ธรรมศาสตร์" นี้ส่อว่ามีที่มาจากพระมนู เพราะประมวลกฎหมายพระมนูก็เรียกว่า "ธรรมศาสตร์"
  4. ข้อความดั้งเดิมในพระธรรมสาตร (แลงกาต์ 2481a, น. 27) ว่า "แม้นอันว่ามูลคดีวิวาทอันให้บังเกีดความทังปวง" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. ชื่อกฎหมายโบราณของสยามเกี่ยวกับทาส