หน้า:Sources of ancient Siamese law (Masao T, 1905).pdf/3

หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
30
วารสารกฎหมายเยล

แล้วลำดับแต่ละประเภท ดังนี้

(1) ทาสที่ท่านไถ่ถอนมาจากนายเงินผู้อื่น[1]

(2) ทาสที่เกิดจากทาสในบ้านของท่าน[2]

(3) ทาสที่ท่านได้มาจากบิดามารดาของท่าน

(4) ทาสที่ท่านได้มาโดยผู้อื่นให้

(5) ทาสที่ท่านได้ช่วยให้พ้นจากโทษทัณฑ์

(6) ผู้ที่กลายเป็นทาสท่านเพราะท่านได้เลี้ยงในยามข้าวแพง และ

(7) ผู้ที่ท่านนำกลับมาเป็นเชลยในคราวที่ท่านไปรบมา[3] จะเห็นได้ทันทีว่า ทาสทั้งเจ็ดประเภทที่เอ่ยถึงในประมวลกฎหมายพระมนูกับลักษณะทาสของสยามเหมือนกันทุกประการ

เซอร์จอห์น เบาว์ริง กล่าวไว้ในความเรียงเรื่องสยาม[4] ว่า "ในสยาม เหตุผลทางกฎหมายที่จะใช้ตัดพยานนั้นมีมากโข ถึงขั้นที่ดูจะก้าวก่ายกับการรวบรวมพยานหลักฐานเหลือเกิน" ตรงนี้จะขอยกอีกสักตัวอย่างหนึ่งให้เห็นว่า กฎหมายฮินดูกับกฎหมายโบราณของสยามนั้นเทียบกันได้ติด ประมวลกฎหมายพระมนูระบุว่า

"ผู้มีส่วนได้เสียในคดีก็ดี เพื่อนคุ้นเคย คู่หู หรือศัตรูของคู่ความก็ดี ผู้เคยถูกพิพากษาว่าให้การเท็จก็ดี ผู้เจ็บป่วยรุนแรงก็ดี ช่างซ่อมและนักแสดงก็ดี โศรติยะ[5] ก็ดี ผู้ร่ำเรียนพระเวทก็ดี นักพรตผู้ได้ละทิ้งความเกี่ยวข้องทั้งปวงกับทางโลกแล้วก็ดี ผู้ต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยสิ้นเชิงก็ดี ผู้มีชื่อเสียงเสื่อมทรามก็ดี ทัสยุ[6] ก็ดี ผู้ประกอบอาชีพโหดร้ายก็ดี ผู้สูงอายุก็ดี ทารกก็ดี คนโสดก็ดี คนจากวรรณะต่ำสุดก็ดี ผู้ขาดอวัยวะในการรับรู้ก็ดี ผู้ทุกข์ตรมอย่างหนักก็ดี คนเมาก็ดี คนบ้าก็ดี ผู้ทรมานเพราะความหิวหรือกระหายก็ดี ผู้ถูกความเหนื่อยล้ารังควานก็ดี ผู้ทรมานเพราะความอยากได้อยากมีก็ดี คนเจ้าอารมณ์ก็ดี 'โจร' ก็ดี เป็นผู้ที่ต้องห้ามเป็นพยาน" (พระมนู เล่ม 8 หน้า 64–68)

ในเรื่องนี้ ลักษณะพยาน[7] ของสยามระบุว่า บุคคล 33 จำพวกดังต่อไปนี้ ต้องตัดออกจากการเป็นพยาน คือ

(1) ผู้ไม่ถือศีลห้าและศีลแปด

(2) ผู้เป็นลูกหนี้ของคู่ความ หรือเคยยืมสิ่งใด ๆ จากเขาเหล่านั้น[8]

(3) ทาสของคู่ความ

(4) ญาติของคู่ความ

(5) เพื่อนของคู่ความ

(6) คู่หูของคู่ความซึ่งกินอยู่หลับนอนด้วยกัน[9]

(7) ผู้เคยวิวาทกับคู่ความ

(8) คนละโมบ[10]

(9) ศัตรูของคู่ความ[11]

(10) คนเจ็บป่วยรุนแรง[12]

(11) เด็กอายุต่ำกว่าเจ็ดปี[13]

(12) คนแก่อายุกว่าเจ็ดสิบปี[14]

(13) ผู้เที่ยวไปว่าร้ายคนโน้นคนนี้[15]

(14) ผู้เต้นรำขออาหาร[16]


  1. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "ทาษไถ่มาด้วยทรัพย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  2. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "ลูกทาษเกิดในเรือนเบี้ย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  3. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการทาษ (แลงกาต์ 2481b, น. 71) ว่า "นำธงไชยไปรบศึกแล้วแลได้มาเปนทาษชะเลย" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  4. อาจหมายถึง หนังสือ เรื่อง The Kingdom and People of Siam; with a Narrative of the Mission to That Country in 1855 (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  5. Hiemstra (2021) ว่า โศรติยะ (śrotriya) หมายถึง ผู้ "ชำนาญและรู้มากในพระเวท" (proficient and well versed in Veda), พราหมณ์ที่คงแก่เรียน (learned Brāhmaṇa), หรือ "ผู้รู้มากในวิชาอาคม" (one well versed in sacred learning) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  6. ทัสยุ (dasyu) หมายถึง คนไม่นับถือศาสนา (impious one) หรือคนไร้อารยะ (barbarian) สารานุกรมบริแทนนิกา (Stefon & Tikkanen 2010) ระบุว่า คำนี้ใช้เรียกคนพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียซึ่งได้รับการพรรณนาว่า ผิวคล้ำ พูดจาไม่รื่นหู (harsh-spoken) บูชาลึงค์ และอาจจัดอยู่ในกลุ่มศูทร (วรรณะล่างสุดของอินเดีย) ซึ่งต้องรับใช้วรรณะที่เหลือ (พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์) และถูกกีดกันจากการร่วมพิธีกรรมกับวรรณะเหล่านั้น รากศัพท์ของคำนี้คือ "ทาส" (dāsa) (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  7. ชื่อกฎหมายโบราณของสยามเกี่ยวกับพยาน
  8. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนกู้นี่ยืมสีนผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  9. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนเปนเพื่อนกินอยู่สมเลกับผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  10. "Those who are covetous" (คนผู้ซึ่งละโมบ) น่าจะเป็นการแปลผิด เพราะข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนมักมากถ้อยมากความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  11. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนผูกเวรกับผู้เปนความ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  12. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 333) ว่า "คนเปนโรคมาก" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  13. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "เดก 7 เข้า" ความหมายของคำว่า "เข้า" ยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ ราชบัณฑิตยสถาน (2556, น. 37) ว่า หมายถึง ปี เช่น 19 เข้า คือ 19 ปี ส่วนพิฑูร มลิวัลย์ (ใน สุจิตต์ วงษ์เทศ 2526, น. 175) ว่า "เข้า ควรจะหมายถึง ย่างเข้า ไม่ควรหมายความว่า ปี ในวรรณคดีอิสานมีที่ใช้หลายแห่ง...เช่น อายุได้ 16 เข้า หมายความว่า ย่างเข้า 16 ปี ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่สอง ก็มีข้อความว่า อายุยี่สิบเก้าเข้าสามสิบ" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  14. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "เถ้า 70" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  15. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนมักส่อเสียดท่าน" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
  16. ข้อความดั้งเดิมในพระไอยการลักษณภญาณ (แลงกาต์ 2481a, น. 334) ว่า "คนเต้นรำขอทานเลี้ยงชีวิตร" (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)