กฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120 (รก.)
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งว่า ด้วยการแบ่งเฃตร์แขวงสำหรับจัดการปกครองแลตำแหน่งน่าที่ข้าราชการในหัวเมืองทั้ง ๗ คือ
เมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะหริ่ง เมืองสาย เมืองยะลอ เมืองรามัน เมืองระแงะ ในมณฑลนครศรีธรรมราชนั้น ยังเปนการก้ายก่ายอยู่หลายประการ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า สมควรจะจัดการวางแบบแผนวิธีปกครองแลวางตำแหน่งน่าที่ราชการให้เปนระเบียบเรียบร้อยตามสมควรแก่กาลสมัย เพื่อจะให้ราชการบ้านเมืองในหัวเมืองเหล่านั้นเปนไปโดยสดวกดี แลทั้งจะให้เปนความศุขสำราญแก่พระยาเมืองแลศรีตวันกรมการอาณาประชาราษฎรทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งข้อบังคับสำหรับปกครองเมืองทั้ง ๗ ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ๑เมือง ๗ เมือง คือ เมืองตานี ๑ เมืองหนองจิก ๑ เมืองยะหริ่ง ๑ เมืองสาย ๑ เมืองยะลอ ๑ เมืองรามัน ๑ เมืองระแงะ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงเปนเมือง ๗ เมืองอยู่ตามเดิม แลให้พระยาเมืองเปนผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตร์พระกรรณให้เปนการเรียบร้อยตามระเบียบแบบแผนดังจะกล่าวต่อไปในกฎฉบับนี้
ข้อ๒ในการบังคับบัญชาการเมืองนั้น ให้มีกองบัญชาการเมือง คือ
พระยาเมือง เปนหัวน่า ๑ ปลัดเมือง ๑ ยกรบัตร์เมือง ๑ ผู้ช่วยราชการเมือง ๑ รวม ๔ คน เปนกองบัญชาการเมือง การตั้งแลผลัดเปลี่ยนตำแหน่งพระยาเมือง ปลัดเมือง ยกรบัตร์เมือง แลผู้ช่วยราชการเมืองนั้น แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควรแก่การ
ข้อ๓เมือง ๑ ให้มีกรมการชั้นรอง เสีมยนพนักงาน ตามสมควร
ข้อ๔เมื่อกองบัญชาการเมืองได้ปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า ควรมีกฎหรือข้อบังคับสำหรับการสิ่งใดในเมืองนั้น ให้มีอำนาจตั้งกฎแลข้อบังคับได้ แต่กฎแลข้อบังคับที่จะตั้งนี้ ต้องไม่ฝ่าฝืนพระบรมเดชานุภาพ ประการ ๑ ไม่ฝ่าฝืนพระราชกำหนดกฎหมาย ประการ ๑ ไม่ฝ่าฝืนกับข้อสัญญาทางพระราชไมตรี ประการ ๑ แลข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณได้เห็นชอบด้วยแล้ว ประการ ๑
ข้อ๕ในการประชุมกองบัญชาการเมืองบังคับญชาการในพื้นบ้านเมืองทุกอย่างนั้น เมื่อพระยาเมืองได้ปฤกษาหารือตกลงพร้อมกันในกองบัญชาการแล้ว จึงให้พระยาเมืองบังคับบัญชาราชการไปตามสมควร แลบรรดาหนังสือราชการซึ่งเปนหนังสือมีไปนั้น ให้มีไปในนามของพระยาเมืองพร้อมด้วยกองบัญชาการเมือง เซ็นชื่อประทับตราของพระยาเมืองทุกฉบับ แลให้ปลัดเมืองเซ็นอักษรหมายชื่อด้วย จึงใช้ได้ในราชการ
ข้อ๖ในมีสมุดหมายประกาศคำสั่งสำหรับกองบัญชาการเมือง ๆ ละ ๑ เล่มสำหรับจดหมายประกาศคำสั่งทั้งปวงซึ่งจะออกใช้ในเมืองนั้น ถ้ากองบัญชาการเมืองจะออกหมายประกาศคำสั่งอย่างใด ๆ ก็ดี ให้เขียนลงในสมุดเล่มนี้เปนต้นฉบับลงเลขที่แลลงวันเดือนปีเปนลำดับกันไป แลให้พระยาเมือง ปลัดเมือง เซ็นชื่อประทับตราข้างท้ายหมายประกาศคำสั่งในสมุดนั้น แล้วจึงให้คัดสำเนาสำหรับออกประกาศแลมีไปอีกต่างหาก ถ้าหมายประกาศแลคำสั่งฉบับใดซึ่งกองบัญชาการเมืองไม่ได้เซ็นชื่อประทับตราในสมุดต้นคำสั่งนั้นก่อนแล้ว จะถือว่า หมายประกาศแลคำสั่งฉบับนั้นเปนราชการไม่ได
ข้อ๗ให้มีกำหนดเวลากองบัญชาการเมืองพร้อมด้วยข้าราชการชั้นรองประชุมปฤกษาราชการเมืองเนือง ๆ เมื่อมีราชการสิ่งใดปฤกษาหารือเห็นชอบพร้อมกันแล้ว ก็ให้จัดสั่งราชการไป ถ้ากองบัญชาการเมืองมีความเห็นแตกต่างไม่ตกลงกัน ให้หารือไปยังข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณขอคำสั่งเปนเด็ดขาด
ข้อ๘ราชการสิ่งใดที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมกองบัญชาการเมืองแล้ว ให้จัดทำไปตามน่าที่ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดออกหมายประกาศหรือคำสั่งหรือมีหนังสืออย่างใดไปที่ใดใดก็ดี ซึ่งไม่ใช้เปนข้อความที่กองบัญชาการเมืองตกลงเห็นชอบพร้อมกันซึ่งปรากฎอยู่ในรายงานประชุมแล้ว แลไม่เปนการปัจจุบันทันด่วนดังว่าไว้ในข้อต่อนี้ไปแล้ว จะถือว่า คำสั่งนั้นหรือหนังสือนั้นเปนราชการไม่ได้
ข้อ๙ถ้ามีการปัจจุบันทันด่วนเกิดขึ้นในบ้านเมืองซึ่งจำเปนจะต้องจัดต้องสั่งโดยเร็วแล้ว ข้าราชการคนใดในกองบัญชาการเมืองมีอำนาจจัดสั่งไปได้ทันที แล้วจึงให้รีบแจ้งความที่ได้สั่งไปนั้นให้กองบัญชาการเมืองทราบในเวลาที่ประชุมกองบัญชาการคราวแรก แล้วแต่กองบัญชาการเมืองจะปฤกษาเห็นชอบตามลักษณที่ได้สั่งแลจัดการไปแล้วนั้นหรือให้แก้ไขประการใด
ข้อ๑๐ด้วยพระยาเมืองมีน่าที่ในการบังคับบัญชาราชการในบ้านเมืองตามที่บังคับบัญชาราชการในบ้านเมืองตามที่ได้ปฤกษาหารือตกลงกันในกองบัญชาการเมืองแล้ว เพราะฉนั้น การที่จะบังคับบัญชาราชการอย่างใดก็ดี หรือจะออกคำสั่งหรือจะมีหนังสือไปแห่งใดในราชการก็ดี ต้องเปนคำสั่งโดยอนุมัติของกองบัญชาการเมือง แลการที่จะมีคำสั่งในราชการไปในเฃตร์แขวงบ้านเมืองนั้น ต้องให้สั่งทางกรมการอำเภอตามระเบียบของการปกครองท้องที่
ข้อ๑๑ให้กองบัญชาการเมืองมีใบบอกแลรายงานข้อราชการในบ้านเมืองไปยังข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณตามปรกติ เว้นแต่การต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ กองบัญชาการเมืองจะมีใบบอกตรงไปยังที่ว่าการมณฑลก็ได้ แต่ต้องส่งสำเนาให้ที่ว่าการบริเวณทราบในคราวเดียวกัน คือ
(๑)รายงานข้อราชการอย่างใดที่ไม่ต้องขอคำสั่ง
(๒)การด่วนที่จะต้องทำ แต่เหนืออำนาจข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ
(๓)การที่ได้มีหนังสือมณฑลหรือท้องตราถึงฉเพาะเมืองนั้น
(๔)การปัจจุบันทันด่วน คือ
รายงานเหตุการแปลกประหลาดเกิดขึ้น เช่น เหตุโจรผู้ร้าย เปนต้น
(๕)ในการอย่างใด ๆ ซึ่งกองบัญชาการเมืองเห็นว่า จะมีใบบอกไปยังข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณไม่ทันท่วงทีราชการ หรือจะเสื่อมเสียประโยชน์ของราชการ จะมีใบบอกตรงไปยังมณฑลก็ได้ แต่ต้องส่งสำเนาแจ้งไปให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณทราบด้วยโดยเร็ว
(๖)บรรดาการที่เกี่ยวข้องกับหัวเมืองในบริเวณเดียวกัน กองบัญชาการเมืองจะมีหนังสือไปมาตรงถึงกันก็ได้ แต่ต้องส่งสำเนาไปให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณทราบโดยเร็วทุกฉบับเหมือนกัน
ข้อ๑๒ถ้ากองบัญชาการเมืองเห็นเปนการจำเปนแล้ว จะมีใบบอกตรงมายังกรุงเทพฯ ก็ได้ ไม่ห้ามปราม
ข้อ๑๓การที่ห้ามต่อไปในข้อนี้ ตามพระราชกำหนดกฎหมายแลตามประเพณีแต่เดิมมา เปนการที่ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ พระยาเมือง แลข้าราชการทำไม่ได้มาแต่ก่อนแล้ว แต่เห็นว่า ควรจะกล่าวไว้ในที่นี้เพื่อให้ทราบชัดเจน คือ ห้ามไม่ให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ พระยาเมือง หรือปลัดเมือง หรือข้าราชการที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์ แลศรีตวันกรมการ ทำการต่อไปนี้ นอกจากได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ห้าม
(๑)ตั้งกฎหมายอย่างใดโดยพลการ
(๒)ตั้งภาษีอากรหรือเก็บเงินจากราษฎรโดยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง
(๓)อนุญาตภาษีผูกขาด ทำสัญญาบ่อแร่ แลสัญญาป่าไม้
(๔)ห้ามไม่ให้ทำสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวในราชการหรือในพื้นบ้านเมืองกับคนในบังคับต่างประเทศ
(๕)การประหารชีวิตร์ หรือจำตลอดชีวิตร์ หรือริบทรัพย์สมบัติ หรือปรับไหมลงโทษแก่ราษฎรในทางที่ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
(๖)การตั้งแลฝึกหัดพลทหาร มีอาวุธประจำตน หรือสะสมเครื่องสาตราวุธ กระสุนดินดำ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ข้อ๑๔เพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของพระยาเมืองมิให้ตกขาด แลเพื่อจะจัดการผลประโยชน์ให้เปนระเบียบเรียบร้อย แลมให้เปนการลำบากเดือดร้อนแก่อาณาประชาราษฎร เพราะฉนั้น การเก็บผลประโยชน์ในเมืองใด จะเปนภาษีอากรอย่างใด ๆ เปนต้นว่า ค่าธรรมเนียมก็ดี เงินส่วยอาเสต้นไม้เงินทอง หรือส่วยอย่างใดก็ดี หรือเก็บค่าหางเข้า น้ำมันดิน หรือค่าที่ดินอย่างใดก็ดี หรือภาษีเกลือก็ดี ให้เก็บณที่ทำราชการซึ่งเปนที่เปิดเผย แลให้เก็บตามระเบียบแบบแผนอัตราข้อบังคับของกรมสรรพากรซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นไว้ตามสมควรแก่การ ที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะตั้งเก็บภาษีอากรอย่างใดในบ้านเรือนของตน หรือให้ผู้ใดซึ่งไม่เจ้าพนักงานของรัฐบาลเปนผู้เก็บนั้น ไม่ได้
ข้อ๑๕อนึ่ง ในชั่วเวลาที่พระยาเมืองรับราชการดี จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผลประโยชน์ให้พอเลี้ยงชีพแลรักษาบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่ง ผลประโยชน์ที่จะพระราชทานนี้ คือ แบ่งส่วนผลประโยชน์บ้านเมืองที่เก็บได้ตามจำนวนเงินที่พระยาเมืองทั้งหลายได้ทำบาญชียื่นไว้เปนหลักถานแต่ก่อนแล้วนั้น แลจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เพิ่มเปนครั้งคราวตามส่วนผลประโยชน์ซึ่งเก็บได้มากขึ้นในพื้นบ้านเมืองที่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร
ข้อ๑๖โดยมีพระบรมราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองเหล่านั้นให้รุ่งเรืองเจริญขึ้นตามสมควรแก่กาลสมัย เพราะฉนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินผลประโยชน์ที่เก็บได้ ซึ่งได้หักค่าใช้สอยแล้วนั้น ไว้เปนเงินสำหรับจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองเปนปี ๆ ตามสมควรแก่การที่จะทำได้
ข้อ๑๗พระยาเมืองแลศรีตวันกรมการซึ่งเปนคนในพื้นบ้านเมือง ถ้าได้รับราชการดีตลอดชั่วเวลารับราชการ หรือโดยทุพลภาพประการใดก็ดี จะได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญตามพระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญนั้น
ข้อ๑๘อนึ่ง ศรีตวันกรมการแลวงษ์ตระกูลของพระยาเมืองซึ่งเคยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินเลี้ยงชีพมีอัตราอยู่แล้วนั้น ถ้ายังประพฤติดี ยังจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานต่อไปตามอัตรานั้น หรือเพิ่มขึ้นตามที่จะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร
ข้อ๑๙ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณคน ๑ สำหรับตรวจตราแนะนำราชการทั้งปวงทั่วบริเวณทั้ง ๗ หัวเมืองต่างพระเนตร์พระกรรณในราชการทุก ๆ เมืองหรือที่เกี่ยวข้องกันในระหว่างบางเมือง หรือราชการที่เกี่ยวข้องกับเมืองต่างประเทศ เปนไปโดยเรียบร้อยดังพระบรมราชประสงค์ และให้มีข้าราชการรองสำหรับช่วยราชการในน่าที่ของข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณอีกตามสมควรแก่ราชการ
ข้อ๒๐ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณก็ดี แลข้าราชการสำหรับช่วยราชการข้าหลวงบริเวณที่เปนตำแหน่งราชการรับพระราชทานสัญญาบัตร์ก็ดี การเลือกสรรผลัดเปลี่ยนข้าราชการตำแหน่งเหล่านี้แล้วแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชดำริห์เห็นสมควร
ข้อ๒๑ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณมีน่าที่จัดราชการในบริเวณให้เปนไปตามกฎข้อบังคับนี้ แลปฏิบัติราชการตามท้องตรากรุงเทพฯ แลคำสั่งของข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช แต่การที่จะขอคำสั่งทางใดนั้น แล้วแต่ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณจะเห็นสมควรแก่ประโยชน์ของราชการ
ข้อ๒๒ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณมีอำนาจ คือ
(๑)ทำและจัดราชการในบริเวณซึ่งไม่ฝ่าฝืนท้องตรา กฎข้อบังคับ แลพระราชกำหนดกฎหมายได้ทุกอย่าง
(๒)ปฏิบัติราชการซึ่งเกี่ยวกับต่างประเทศซึ่งไม่ฝ่าฝืนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีได้ทุกอย่าง
(๓)มีอำนาจจะตั้งแต่งยกถอนข้าราชการในบริเวณซึ่งเปนผู้ไม่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์หรือไม่ได้รับประทวนตราเสนาบดี
(๔)มีอำนาจที่จะยกข้าราชการที่มีตำแหน่งรับพระราชทานสัญญาบัตร์หรือรับประทวนตราเสนาบดีคนใดคนหนึ่งในบริเวณออกจากตำแหน่งแลน่าที่ได้ในคราวหนึ่ง แต่อำนาจในส่วนนี้ให้ใช้แต่ในการปัจจุบันทันด่วนซึ่งจะขออนุญาตต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชหรือกรุงเทพฯ ก่อนไม่ทันประโยชน์ราชการ แต่เมื่อเอาตัวออกแล้ว ต้องบอกมายังที่ว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยเร็ว
(๕)สั่งให้หยุดยั้งหรือถอนคำสั่งของกองบัญชาการเมืองหรือข้าราชการคนใดคนหนึ่งในเฃตร์บริเวณที่บังคับ ซึ่งเห็นว่า เปนคำสั่งซึ่งไม่ชอบด้วยราชการหรือไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย ในระหว่างมีใบบอกมายังข้าหลวงเทศาภิบาลฤๅกรุงเทพฯ ได้ทุกอย่าง
ข้อ๒๓บรรดาใบบอกแลรายงานราชการทั้งปวงนั้น ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณจะมีใบบอกมาหารือขอคำสั่งแก่ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช หรือจะมีบอกมายังกรุงเทพฯ ก็ได้ แล้วแต่ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณจะเห็นสมควรแก่ราชการ แต่ถ้ามีบอกตรงมายังกรุงเทพฯ ต้องส่งสำเนาไปให้ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชทราบด้วยจงทุกฉบับ
ข้อ๒๔ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ทุกมาตรา แลให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณกำหนดเฃตร์เมืองแลจัดตั้งอำเภอตามสมควรแก่ท้องที่ และให้กองบัญชาการเมืองกำหนดแบ่งอำเภอเปนตำบลแลหมู่บ้านเพื่อจัดการตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่
ข้อ๒๕ให้จัดการเรือนจำเมืองแลบริเวณตามข้อบังคับเรือนจำ รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ทุกประการ แต่การกำหนดตั้งเรือนจำที่ใด แลการตั้งพธำมรงนั้น แล้วแต่ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณจะจัดสั่งแลตั้งแต่งตามที่เห็นสมควร
ข้อ๒๖ให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณแลพระยาเมือง ๆ ในบริเวณพบปะประชุมปฤกษาหารือเพื่อจัดราชการบ้านเมืองในบริเวณนั้นมีกำหนดปี ๑ ไม่น้อยกว่า ๒ ครั้ง จะพบปะประชุมที่ใดเวลาใด ให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณนัดหมายตามสมควร และให้ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดการประชุมพร้อมด้วยข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณแลพระยาเมืองทั้งหลายมีกำหนดไม่น้อยกว่าปีละ ๑ ครั้ง
ข้อ๒๗บรรดาข้าราชการทั้งปวงซึ่งรับราชการในบริเวณนี้ ควรหัดพูดภาษาแลเขียนหนังสือมลายูทุกคน เพราะฉนั้น ควรมีกำหนดว่า ถ้าไปรับราชการภายใน ๑ ปี ควรพูดภาษาได้ แลถ้าได้รับราชการอยู่ถึง ๓ ปีแล้ว ควรอ่านหนังสือมลายูได้ ถ้ามิฉนั้น ยังมิควรจะได้รับพระราชทานเงินเดือนเพิ่มเติมอัตราจนกว่าจะพูดภาษาแลอ่านหนังสือได้ภายในกำหนดเวลาดังว่ามาแล้วนี้
ข้อ๒๘ถ้าข้าหลวงเทศาภิบาลได้พร้อมด้วยพระยาเมืองและโต๊ะกาลีเมืองใดได้สอบแล้วเห็นว่า ข้าราชการคนใดพูดภาษามลายูได้ ให้พร้อมกันเซ็นชื่อออกปกาศนียบัตร์ให้ข้าราชการผู้นั้น แลข้าหลวงเทศาภิบาลมีอำนาจจะให้เงินหลวงเปนรางวัลเปนเงินไม่เกิน ๑๐๐ บาท หรือถ้าสอบอย่างเดียวกันเห็นว่า เปนผู้อ่านเขียนหนังสือมลายูได้ ก็ให้ ๆ ปกาศนียบัตร์ แลข้าหลวงเทศาภิบาลมีอำนาจจะให้เงินหลวงเปนรางวัลได้ไม่เกิน ๔๐๐ บาท
ข้อ๒๙ให้ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชจัดวางแบบแผนสอบไล่วิชาพูดแลหนังสือมลายู แลอัตราชั้นรางวัลภายในกำหนดวงเงินดังว่ามาแล้วในข้อก่อน
ข้อ๓๐ให้ใช้พระธรรมนูญศาลหัวเมือง รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ ในบริเวณนี้ เว้นแต่คำว่า “ศาลมณฑล” ให้เข้าใจว่า “ศาลบริเวณ” แลคำ “ข้าหลวงเทศาภิบาล⟨”⟩ ให้เข้าใจว่า ⟨“⟩ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณ” แลการที่จะตั้ง หรือจะเลื่อน หรือจะเปลี่ยนผู้พิพากษาในบริเวณ ๗ หัวเมืองตามความที่ว่าไว้ในมาตรา ๑๐ ของพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร,ศ, ๑๑๔ นั้น ให้ถือว่า เปนน่าที่ของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจะนำความกราบบังคมทูล และให้ข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณมีใบบอกในการที่เกี่ยวแก่ตั้ง หรือเลื่อน หรือเปลี่ยนผู้พิพากษาในบริเวณมายังเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ข้อ๓๑ให้มีศาลเปน ๓ ชั้น คือ
๑ศาลบริเวณ
๒ศาลเมือง
๓ศาลแขวง
และให้มีผู้พิพากษาสำหรับศาลเหล่านี้เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชกำหนดกฎหมาย
ข้อ๓๒ให้ใช้พระราชกำหนดกฎหมายทั้งปวงในความอาญาแลความแพ่ง แต่ความแพ่งซึ่งเกี่ยวด้วยสาสนาอิสลามเรื่องผัวเมียก็ดี แลเรื่องมรฎกก็ดี ซึ่งคนนับถือสาสนาอิสลามเปนทั้งโจทย์จำเลย หรือเปนจำเลย ให้ใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาแลพิพากษา แลให้โต๊ะกาลีซึ่งเปนผู้รู้แลเปนที่นับถือในสาสนาอิสลามเปนผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลามนั้น
(ลงพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
งานนี้ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะเป็นงานตามมาตรา 7 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย ซึ่งบัญญัติว่า
- "มาตรา 7 สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
- (1)ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
- (2)รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
- (3)ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
- (4)คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
- (5)คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น จัดทำขึ้น"