กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน/หมวด 11

หมวด ๑๑
อาวัล

"อาวัล" คืออะไร คำว่า "อาวัล" นั้น คือ การค้ำประกันการใช้เงินตามตั๋วเงิน ซึ่งมีลักษณคล้ายกับการสอดเข้าแก้หน้าดั่งที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ข้อที่แตกต่างกันนั้น คือ การเข้ารับอาวัลนั้นเช่นเดียวกับการค้ำประการทั้งหลาย จึงอาจทำกันได้ตั้งแต่แรกออกตั๋ว หรืออีกนัยหนึ่ง ตั้งแต่ก่อให้เกิดหนี้เป็นต้นไป ส่วนการสอดเข้าแก้หน้านั้น คงจะยังจำได้ว่า จะมีขึ้นได้ก็แต่เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เช่น เมื่อผู้ทรงสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ก่อนตั๋วเงินถึงกำหนด เป็นต้น มิฉะนั้น จะมีการสอดเข้าแก้หน้าหาได้ไม่.

ผู้ที่จะเข้ารับอาวัลนี้อาจจะเป็นบุคคลภายนอกซึ่งยังไม่ได้เกี่ยวข้องในตั๋วนั้นก็ได้ หรือแม้เป็นคู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดชอบตามตั๋วอยู่แล้วก็ได้ แต่ก็เป็นธรรมดาอยู่เองสำหรับบุคคลซึ่งต้องรับผิดชอบตามตั๋วเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว เช่น ผู้รับรอง เป็นต้น จะเข้ารับอาวัลก็คงไม่ได้ผลนัก เพราะตนต้องรับผิดอยู่แล้ว ถ้าจะให้ได้ผลดี ก็ต้องเปนบุคคลภายนอกเข้ามารับอาวัล หรือผู้ที่มีความรับผิดส่วนน้อยเข้ารับอาวัลของผู้ที่มีความรับผิดส่วนใหญ่ เช่น ผู้สลักหลังเข้ารับอาวัลสำหรับผู้รับรอง เป็นต้น จะได้ทำให้ผู้สลักหลังนั้นรับผิดอย่างเดียวกับผู้รับรองซึ่งตนประกัน.

วิธีเข้ารับอาวัล: วิธีเข้าทำสัญญารับอาวัลนั้น ตามมาตรา ๙๓๙ บัญญัติว่า "อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นหรือที่ใบประจำต่อ

ในการนี้ พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่า เป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัล ต้องระบุว่า รับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่า รับประกันผู้สั่งจ่าย"

มีข้อที่ควรสังเกตว่า การเข้ารับอาวัลนี้ ตามธรรมดาควรเขียนข้อความว่า เป็นการรับอาวัล แล้วลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลด้วย แต่ถ้าผู้รับอาวัลจะเพียงแต่ลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วเงินอย่างเดียว กฎหมายก็ยังยอมให้เป็นการใช้ได้เหมือนกัน (ต้องลงในด้านหน้า ถ้าลงในด้านหลัง จะกลายเป็นสลักหลังไป) อนึ่ง การที่มีลายมือชื่อของบุคคลลงในด้านหน้าตั๋วเงินที่จะแปลว่าเป็นอาวัลนั้น ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย เพราะเหตุว่า ผู้จ่ายนั้น ถ้าได้ลงชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั่วเงิน ก็เท่ากับเป็นการรับรองตั๋วนั้น (มาตรา ๙๓๑) ส่วนผู้สั่งจ่ายก็เช่นเดียวกัน ตามธรรมดาตั๋วแลกเงินต้องลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายอยู่แล้วจึ่งจะใช้ได้ ฉะนั้น ในกรณีที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายหรือลายมือชื่อผู้จ่ายลงในด้านหน้าตั๋วเงิน ถ้าจะยอมให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลได้แล้ว ก็จะไปขัดกับวิธีการของตั๋วแลกเงินดั่งกล่าวมาแล้ว และจะเป็นทางก่อให้เกิดความยุ่งยากที่จะต้องตีความว่า ลายมือชื่อนั้นลงในฐานะอะไรแน่ กฎหมายจึงไม่ยอมให้ถือว่าเป็นอาวัล.

ความรับผิดของผู้รับอาวัล ตามมาตรา ๙๔๐ วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันตนเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน" มาตรานี้เป็นแม่บทแสดงความรับผิดชอบของผู้ที่เข้ารับอาวัลทำนองเดียวกับมาตราอื่น ๆ ที่แสดงความรับผิดชอบของค่สัญญาในตั๋วแลกเงินต่าง ๆ กันดั่งที่ได้อธิบายมาแล้ว เช่น มาตรา ๙๑๔ แสดงความรับผิดชอบของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลัง และมาตรา ๙๓๗ แสดงความรับผิดของผู้รับรอง เป็นต้น เมื่อผู้รับอาวัลเข้ารับอาวัลสำหรับผู้ใด ย่อมเท่ากับเป็นอันผูกพันตนว่า จะรับผิดชอบอย่างเดียวกับผู้ที่ตนเข้าประกันนั้น

มาตรา ๙๔๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า "แม้ถึงว่า ความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่า ข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์" โดยเหตุที่ว่า ตามธรรมดาผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นใช้ยันต่อเจ้าหนี้ได้ และโดยเหตุที่มาตรา ๙๔๐ วรรคแรกก็บัญญัติไว้ว่า ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน เพราะฉะนั้น ว่ากันตามธรรมดาแล้ว ถ้าบุคคลซึ่งผู้รับอาวัลเข้าประกันนั้นมีเหตุที่จะไม่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นอย่างไร เช่น เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือลงชื่อในตั๋วเงินไปโดยสำคัญผิด เป็นต้น ผู้รับอาวัลก็ไม่ควรจะต้องรับผิดด้วย แต่ถ้าจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่า เป็นอันขัดกับลักษณแห่งตั๋วเงิน เพราะตั๋วเงินเป็นตั๋วเปลี่ยนมือสำหรับใช้หมุนเวียนกันไปจนกว่าจะถึงกำหนดใช้เงินตามตั๋วนั้น ตั๋วเงินที่มีผู้ค้ำประกันเป็นคนมีหลักฐานดีนั้น ย่อมจะมีผู้ต้องการจะรับไว้ ถ้าจะยอมให้ผู้ค้ำประกันสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นมาใช้ได้แล้ว ก็คงไม่มีใครยินดีรับตั๋วนั้น เพราะเหตุนี้ กฎหมายจึงได้บัญญัติไว้ดั่งกล่าวมาข้างต้นว่า ถึงแม้ความรับผิดใช้เงินที่ผู้รับอาวัลได้ประกันไว้นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใด ๆ ผู้รับอาวัลก็ยังคงต้องรับผิดอยู่ เว้นแต่เหตุที่ความรับผิดใช้เงินจะตกเป็นใช้ไม่ได้นั้นเกิดจากการทำผิดแบบระเบียบ (ควรเทียบมาตรา ๖๘๑ และมาตรา ๙๐๒ ประกอบด้วย)

อุทาหรณ์

ก. เป็นลูกหนี้ ข. ๑๐๐๐ บาท จึงทำตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่ง โดย ข. เป็นผู้สั่งจ่ายให้แก่ตนเอง ก. เป็นผู้จ่ายและเป็นผู้รับรองเพื่อที่จะให้เป็นหลักฐานยิ่งขึ้น ค. เข้ารับอาวัลแทน ก. ผู้รับรอง

สมมุติว่า ต่อมา ความปรากฏว่า ก. เป็นคนวิกจริต ไม่สามารถทำกิจการด้วยตนเอง และได้รับรองตั๋วเงินไปในขณะที่เป็นคนวิกลจริตนั้น ค. จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดตามตั๋วนั้นไม่ได้

แต่ถ้าตั๋วแลกเงินที่ ก. รับรองนั้นทำขึ้นผิดแบบระเบียบ เช่น มิได้ระบุว่า เป็น "ตั๋วแลกเงิน" หรือคำสั่งที่ให้จ่ายเงินนั้นเป็นคำสั่งที่มีเงื่อนไข ดั่งนี้ ค. หาต้องรับผิดชอบตามตั๋วนั้นไม่

ผู้รับอาวัลมีสิทธิอย่างไร: มาตรา ๙๔๐ วรรค ๓ บัญญัติว่า "เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึงตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น" ตามมาตรานี้ เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากบุคคลซึ่งตนประกันไว้นั้น เช่นเดียวกับผู้ค้ำประกันธรรมดาซึ่งมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เมื่อตนได้ชำระหนี้แทนไปแล้วได้ แต่นอกจากนั้น ผู้รับอาวัลยังมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ "บุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น" ด้วย ควรสังเกตว่า ที่ใช้คำว่า "แทน" นั้น บางทีคงจะเนื่องมาจากภาษาอังกฤษใช้คำว่า "responsible for" ความจริงที่ถูกน่าจะเป็น "responsible to" หรือ "liable to" หรือ "รับผิดต่อ" อย่างที่ใช้ในมาตรา ๙๕๘ เรื่องใช้เงินเพื่อแก้หน้ามากกว่า

อุทาหรณ์

ก. เป็นผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินให้ ข. ข. สลักหลังให้ ค. ค. สลักหลังให้ ง. ซึ่งเป็นผู้ทรงในเวลานี้ ตั๋วแลกเงินฉะบับนี้มี ฮ. เป็นผู้รับอาวัลสำหรับ ค.

ถ้า ฮ. ใช้เงินไปตามตั๋ว ฮ. อาจจะไล่เบี้ยเอาจาก ค. ซึ่งตนประกันไว้ หรือจะไปไล่เบี้ยเอาจาก ก. และ ข. ซึ่งต้องรับผิดต่อ ค. ก็ได้.