กฎหมายไทยฯ/เล่ม 4/เรื่อง 1
พระราชบัญญัติแลประกาศซึ่งตั้งขึ้นไว้ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลกฎเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่าง ๆ ซึ่งออกใช้เปนกฎหมายโดยพระบรมราชานุญาต
สำหรับข้าหลวงกองจับกองชำระโจรผู้ร้ายหัวเมืองฝ่ายตวันออกแลฝ่ายเหนือ
มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า เดิมได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้บัญชาการทหารบก เปนแม่กองใหญ่จับโจรผู้ร้ายหัวเมืองฝ่ายตวันออกแลฝ่ายเหนือ แล้วให้ส่งขึ้นไปยังพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ กองชำระณะเมืองนครราชสีห์มา ครั้นเส็จพระราชดำเนินออกมาประพาศณเกาะสีชัง พระยาสุรศักดิ์มนตรีนำรายงานจับโจรผู้ร้ายมากราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ถ้าจะให้คุมคนซึ่งต้องจับว่าเปนผู้ร้ายในหัวเมืองตามแขวงชายทะเลขึ้นไปพิจารณาถึงเมืองนครราชสีพ์มา เปนระยะทางไกล จะได้ความลำบาก จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มีข้าหลวงกองชำระออกไปตั้งชำระผู้ซึ่งต้องจับว่าเปนผู้ร้ายในหัวเมืองซึ่งกองจับตั้งอยู่ฤๅในเขตรแขวงที่ใกล้เคียงพอเดินไปมาถึงกันได้ง่าย แต่ข้อบังคับสำหรับซึ่งจะกำหนดตำแหน่งและอำนาจข้าหลวงกองจับแลข้าหลวงกองชำระจะมีน่าที่แลมีอำนาจที่จะทำการได้ประการใด ยังหาได้มีข้อบังคับกำหนดชัดเจนไม่ จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้มีข้อบังคับสำหรับข้าหลวงกองจับแลกองชำระต่อไปดังนี้
การจับแลการชำระผู้ร้ายครั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งเปนสองชั้น คือ กองสืบจับ แลกองพิจารณาตัดสินเ ปนสองส่วนสองกอง แลน่าที่กองจับนั้นจะต้องเปนผู้ไต่สวนสืบจับแลบังคับผู้รักษาเมืองกรมการให้สืบจับเอาตัวผู้ที่เปนหัวน่านายกองซ่องสุมโจรผู้ร้ายแลผู้ร้ายที่เคยลงมือปล้นแย่งตีชิงวิ่งราวลักล้วงแลหัวไม้ที่มีชื่อมีฝีมือในการยิงฟันแทงอันเที่ยวกระทำการร้ายแก่ราษฎรในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วทุกตำบล มีอำนาจที่จะทำการจับจำผู้ที่มีเหตุควรสงไสยว่าเปนคนร้ายได้ทั่วทุกแห่งทุกแขวงทุกตำบล ไม่ต้องมีโจทย์แลโฉนดบาดหมายผู้ได แลมีอำนาจจะบังคับบัญชาเรียกร้องให้ผู้รักษาเมืองกรมการกำนันอำเภอนายบ้านแลราษฎรแจ้งความสัตย์จริงในเรื่องราวของผู้ร้ายแลการร้ายทั้งหลาย แลให้ช่วยแนะนำกำกับแลเปนกำลังอุดหนุนในการจับโจรผู้ร้ายแลพิจารณาสืบสาวจับตัวคนร้าย แลรักษาคุมจำโจรผู้ร้ายในแขวงท้องที่ไปส่งยังแม่กองจับผู้ร้ายฤๅกองชำระผู้ร้ายได้โดยสมควรแลชอบด้วยราชการทุกประการ แต่การที่จะจับผู้ร้ายนั้น มิให้กระทำโดยหักหาญใช้กำลังแลอาวุธเกินกว่าความจำเปนต้องการไปเปนอันขาดทีเดียว แลเมื่อได้จับจำผู้ใดแล้ว นายกองผู้จับ แลผู้รักษาเมืองกรมการฤๅอำเภอกำนันพันนายบ้านเจ้าของท้องที่ต้องทำหางว่าวฝ่ายละฉบับ แจ้งเหตุที่ได้จับแลรายชื่อผู้ร้เหนว่าผู้นั้นเปนผู้ร้ายอย่างไร แลแจ้งการที่ได้ทำแล้วตามรายตัวผู้ต้องจับคนละใบส่งไปยังแม่กองจับฤๅกองชำระแห่งหนึ่งแห่งใดซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท้องที่ ๆ ได้จับนั้นแต่ภายใน[1] อันนอกจากเวลาที่จะต้องใช้เกินทาง[2] ไปมานั้น ถ้าแลมีโจทย์ผู้ยืนยัน ก็ให้ส่งตัวไปด้วย ถ้าเปนแต่คำซัก ฤๅคำรางวัด ฤๅคำผู้ใหญ่บ้าน ฤๅจับตามรับสั่งกองชำระ ก็ให้ส่งแต่คำแจ้งการไป ไม่ต้องส่งต้นซัดแลผู้ต้องการ[3] ก่อนก็ได้ แลห้ามขาดมิให้ข้าหลวงกองจับแลผู้รักษาการเมืองกรมการนายบ้านเรียกเอาสินทรัพย์ของผู้เปนโจทย์ฤๅผู้ต้องจับเปนค่าอันใดสิ่งใดเลยเปนอันขาด แม้ว่าผู้เจ้าทรัพย์จะเต็มใจให้เองก็รับมิได้ เว้นไว้แต่ของกลางฤๅสิ่งของที่แม่กองจับ ฤๅกองชำระจะมีคำสั่งประทับตราในน่าที่บังคับให้ยึดจับไว้เปนกลาง จึ่งจะยึดจับได้ แลบันดาของที่ต้องจับดังนี้ต้องมีรูปพรรณแลบาญชีมอบให้ผู้รักษาเมืองกรมการ ๑ นายบ้าน ๑ นายกองจับ ๑ ยึดไว้เปนพยานกัน ตัวของกลางต้องส่งไปพร้อมกับตัวผู้ต้องจับ ของนอกนั้นต้องมอบให้กรมการฤๅนายบ้านเปนผู้พิทักรักษาไว้ ข้าหลวงกองจับจะหยิบยืมฤๅรักษาไว้ใช้สอยเองมิได้
อนึ่ง ข้าหลวงกองจับ ๆ เอาผู้ใดมาเอง ฤๅกรมการนายบ้านจับสั่งมาก็ได้ แม้ผู้ต้องจับนั้นจะไม่มีโทษอันใด ฤๅจับไว้ผิดไปแต่ครู่หนึ่งยามเดียวก็ดี ข้าหลวงกองจับต้องลงสารบบบาญชีรายจับทั่วทุกคน ถ้าได้ความว่าจับผิดตัวไป ฤๅผู้ต้องจับมิได้มีโทษที่ควรจะต้องจับแลจำไว้ดังนี้ ก็ให้กองจับปล่อยตัวไปโดยเร็ว แต่ต้องให้มีผู้รับฤๅมอบหมายแก่นายบ้านของผู้ต้องจับให้รู้สำนักนิ์หลักแหล่งไว้ แล้วทำหางว่าวแลแจ้งรายการไปยังแม่กองจับฤๅกองชำระเหมือนอย่างคนที่ต้องจับอื่น ๆ เหมือนกัน ถ้าผู้ต้องจับจะมีคำร้องว่าแกล้งจับฤๅประการใด ๆ ก็ให้จดจำถ้อยคำนี้ส่งไปกับหางว่าวรายจับนั้นด้วย อย่าให้ปิดบังบาญชีแลจับปล่อยแต่โดยลำพังกองจับฤๅกรมการกำนันกันเองเปนอันขาดทีเดียว
อนึ่ง บันดาผู้ต้องจับที่จะต้องส่งตัวไปยังกองชำระนั้น ให้กองจับปฤกษาหาฤๅกับกรมการแลนายบ้านท้องแขวงของผู้ต้องจับนั้นดู ถ้าคำหา ฤๅคำซัด ฤๅคำแจ้งความมิได้หาข้อฉกรรจ์มหันตโทษก็ดี ฤๅกรมการนายบ้านเชื่อว่า ผู้นั้นเปนคนมีหลักถานมั่นคงอยู้ก็ดี ข้อความที่ซัดหาไม่สมกับกิริยาแลความประพฤติของผู้ต้องจับซึ่งไม่เคยปรากฎว่าเปนคนร้ายก็ดี พอควรจะให้มีประกัน ไม่ต้องจองจำได้ดังนี้ ก็ให้แต่มีประกันไว้กลางตระลาการกว่าจะได้ส่งไปยังกองชำระให้พิจารณา ถ้าแลกรมการกำนันนายบ้านผู้ใดละเลยให้ผู้ไม่มีความผิดต้องจับจำลำบากมามากกว่าการที่สมควรแก่ความพลั้งพลาด ก็เปนผู้ที่ไม่เอาใจใส่ในการศุขทุกข์ของราษฎรในท้องแขวงแห่งตนนั้น
อนึ่ง บันดานักโทษที่กองจับได้จับมาคุมขังจำจองไว้เอง ฤๅให้ผู้รักษาเมืองกรมการรักษาไว้ก็ดี ให้กองข้าหลวงกองจับเอาใจใส่รักษาโดยความกรุณาปราณี อย่าให้ได้ความลำบากเกินกว่าจำเปนด้วยขัดขวางเครื่องนุ่มห่มกินนอนแลรักษาความจำเปนของมทุษย์ทั้งปวงเปนต้นนั้น ถ้าแลมีอันเปนเจ็บไข้ได้ทุกข์ ก็ให้ได้ผ่อนผันกันแก้ด้วยยาแลอาการตามควรแก่กำลังจะสมเคราะห์แก่กันได้ ถ้าแลต้องตายลงด้วยความแตกหักฤๅโรคที่เปนประจุบันแปรกประหลาด ก็ให้นายผู้คุมบอกกล่าวแก่กรมการนายบ้านที่อยู่ใกล้มาช่วยกันชันนสูตรสืบตรวจเปนพยานการบริสุรธิ์แก่กันให้ปรากฎตามความจริงว่า เปนการที่ต้องตายโดยธรรมดา ฤๅเปนด้วยความพลั้งพลาด อย่าได้เปนช่องแก่การอาฆาฏ ฤๅเพื่อกีดกันแก่การพิจารณา ฤๅการดุร้ายอยาบช้าของผู้บังคับ ฤๅความหมิ่นประมาทของผู้คุม ผู้ใช้ให้เปนที่เรื่องฦๅหวั่นหวาดแก่คนทั้งหลายโดยการอันใช่เหตุใด้สักเรื่องสักราย กว่าจำด้ส่งไปพ้นความอารักษแห่งตนนั้น ๆ ถ้าแลได้รับคำสั่งของแม่กองจับฤๅกองชำระให้ปล่อย ให้ส่ง ฤๅให้แยก ให้ทำประการใดแต่นักโทษผู้ใด ก็ให้กระทำตามจงถ้วนถี่ อย่าให้เปนการหมิ่นประมาทแลชักช้าล่วงอำนาจได้แต่สักสิ่งสักอันเปนอันขาด
อีกส่วนหนึ่ง คือ กองพิจารณาตัดสินนั้นมีน่าที่พนักงานที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาหาความสัตย์จริงในคำหาข้อสงไสยในผู้ร้ายทั้งหลายที่กองจับ ๆ มาได้ ให้ได้ความโดยแน่นอนมั่นคงว่า อ้ายคนร้ายผู้ใดเคยกระทำร้ายอย่างไร เมื่อไร เท่าไร แลต้องด้วยพระราชกำหนดบทใด ควรลงโทษฉันใด แล้วให้บอกส่งตัวอ้ายผู้ร้ายแลคำปฤกษามายังกรมพระนครบาลยังกรุงเทพน แลแม่กองพิจารณามีอำนาจที่จะมีคำสั่งกองจับแก่กรมการให้จับให้ส่งผู้ใดมาไต่ถามแลพิจารณาได้ ไม่ว่าผู้ที่ต้องจับไว้แล้วฤๅยังไม่ต้องจับ แลมีอำนาจที่จะทำคำตัดสินฤๅบังคับให้กองจับปล่อยตัวผู้ที่จับไว้ได้ตลอดตามควรแก่ยุติธรรมแลกฎหมายทุกประการ ถ้าแลมีโจทย์แลคำซัดทอดถึงผู้รักษาเมืองกรมการฤๅกองจับว่า ทำการผิดต่อข้อพระราชกำหนดกฎหมายประการใด ให้กองชำระรับแลเรียกมาพิจารณา แลทำคำปฤกษามีใบกราบบังคมทูลพระกรุณา แลความที่ต้องชำระอยู่ในโรงศาลเมืองใด เมื่อการพิจารณาโจรผู้ร้ายแลความที่กล่าวโทษกรมการเกี่ยวพันไปถึง ก็เรียกมารวมฤๅแยกกันพิจารณาตัดสินได้
อนึ่ง เมื่อชำระผู้ร้ายเมืองใด กองชำระต้องเรียกนายกองจับแลกรมการสำหรับเมืองนั้นมาให้รู้เห็นในการพิจารณาด้วยตลอดไป ถ้านายกองจับแลกรมการจะขอคัดคำหาให้การพยานแลคำพิพากษาตัดสินโทษในความเรื่องใดรายใด ผู้ชำระต้องยอมให้คัดเทียบไปไว้เปนคู่มือ จะขัดขวางเสียไม่ได้
อนึ่ง การที่จะจับชำระตัดสินความรายใด เมื่อใด ที่ใด กองชำระต้องบอกสั่งและปฤกษากับกองจับแลกรมการสำหรับเมืองให้พร้อมกันจัดการตระเตรียมให้พร้อมไว้ แลการที่จะตัดสินโทษต้องทำให้เปนพอก[4] เปนหมู่เปนคราว ๆ ไป อย่าให้สับสนก้าวก่ายแยกย้ายชำระตัดสินแต่เฉพาะตัวคนตามชอบใจ จะเลือกทำให้เสียทางเสียกระบวนแลขาดความจริงไป ถ้าแลการพิจารณาปรากฎแล้วว่า ผู้ใดไม่มิความผิด ก็ให้แต่ผู้ชำระทำคำสั่งให้มีประกันไว้คอยคำตัดสินพร้อมกับคำตัดสินรายใหญ่ อย่าให้เลือกคัดตัดสินปล่อยแต่ตามชอบใจตนเปนอันขาดทีเดียว
อนึ่ง บันดานักโทษที่ต้องจำอยู่ในรหว่างพิจารณา กองชำระจะมอบไว้แก่กองจับฤๅกรรมการให้คุมขังรักษา ฤๅเรียกถอนมาให้มีผู้อื่นควบคุมแยกย้ายฤๅรวมกัน เพื่ออุบายในการพิจารณาอย่างใดก็ได้ แต่ถ้าเปนคนที่ต้องจับจำมาแต่ก่อน ผู้ชำระจะให้มีประกันออกจากเรือนจำ ต้องมีคำบังคับเปนถ้อยคำแจ้งเหตุการที่จำเปนเหนควรกระทำนั้นให้ปรากฎ แลให้กองจับรู้เหตุการนั้นด้วย ถ้ากองจับไม่เหนชอบด้วยเหตุใด ก็ให้มีโอกาสที่จะชี้แจงแจ้งความแก่ผู้ชำระได้ ถ้าผู้ชำระไม่เหนชอบในถ้อยคำขัดขวางนั้น ก็ให้ปฤกษาว่ากล่าวไว้ให้เปนหลักถานก่อนการที่จะถอดจะปล่อยให้มีประกันไปนั้นจงทุกคั้งทุกคน แลห้ามขาดมิให้ผู้ใดเรียกรับทรัพยสิ่งใดแก่ลูกความแลราษฎรเปนอันใดสิ่งใดแต่ลำพัง ต่อเมื่อพิจารณาตัดสินเสร็จแล้ว จึ่งให้คิดค่าฤชาธรรมเนียมแลพินัยตามพระราชกำหนดกฎหมายรายตัวไปมอบให้เจ้าพนักงานผู้ลงโทษแลชำระของกลางแลทรัพย์สมบัติคิดลดหักแลบังคับเรียกเร่งแก่ผู้ที่ควรเรียกได้ไว้เปนหลวงตามพระราชกำหนด
อนึ่ง เปนน่าที่ของกองชำระจะต้องรับคำร้องแลคำขัดข้องของเจ้าพนักงานกองจับแลผู้รักษาเมืองกรรมการราษฎรซึ่งมีความขัดข้องสงไสยในทางราชการผิดชอบที่จะได้ประพฤติแลกระทำราชการจับผู้ร้ายครั้งนี้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แลปฤกษาสอบใส่ด้วยพระราช⟨กำ⟩หนดกฎหมายแลอย่างธรรมเนียมประเพณีอันชอบด้วยราชการชี้แจงให้เปนหลักเปนทางที่ควรประพฤติแลกระทำให้ไว้ลงทุกครั้งไป แลเปนน่าที่ ๆ จะสืบสอบข้อราชการที่เปนไปมีใบบอกเข้ามาตามกรมที่หัวเมืองเหล่านั้นขึ้นให้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาเปนเนืองนิตย อย่างช้าก็เพียงเดือนละครั้งจงเสมอไป
ข้อบังคับนี้ตั้งไว้ณวันที่ ๑๘ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๐
- ↑ เหมือนมีข้อความขาดหายบริเวณนี้ แต่ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็มีเท่านี้เช่นกัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ น่าจะเป็น “เดินทาง” แต่ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็ว่า “เกินทาง” เช่นกัน (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า “ผู้แจ้งการ” (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)
- ↑ ฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า “พวก” (เชิงอรรถของวิกิซอร์ซ)