กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ และพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ/ส่วนที่ 2
เพลงยาว
เรื่อง
หม่อมเป็ดสวรรค์[1]
๏จะกล่าวถึงหม่อมสุดนุชนาฏ | เป็นข้าบาทพระราชวังบวรสถาน | |
เป็นหม่อมห้ามขึ้นระวางนางอยู่งาน | ครั้นเสด็จเข้าพระนิพพานล่วงลับไป | |
คิดถึงพระเดชพระคุณให้มุ่นหมก | แสนเศร้าเปล่าอกตกเป็นหม้าย | |
ได้เห็นแต่หน้าหม่อมขำคอยช้ำใจ | รักใคร่แนบข้างไม่ห่างทรวง | |
ครั้นอยู่มาก็นิรานิราศสถาน | ลงมาทำราชการพระวังหลวง | |
ก็ขึ้นระวางเป็นนางต้องห้ามตามกระทรวง | แต่ใจห่วงถึงหม่อมขำนั้นร่ำไป | |
ครั้นพบพักตร์ก็ตักเตือนชวนเพื่อนขำ | ให้ลงมาทำราชการพระวังใหญ่ | |
ครั้นหม่อมขำยินยอมลงพร้อมใจ | กำหนดนัดวันไว้จะลงมา | |
จะจรทางสาชลก็จนใจ | บ่าวไพร่ไม่มีพายขายหน้า | |
ให้อักอ่วนป่วนใจอยู่ไปมา | จะยาตราตามถนนก็จนใจ | |
เป็นคราวขัดจัดกันจะมาบก | ไปยืมม่านท้าวนกก็ไม่ได้ | |
จะขึ้นวอจรลีไม่มีใคร | ก็สั่งให้ยืมผ้าละว้าลาว | |
ให้บ่าวถือสี่มุมแล้วคลุมเพลาะ | ก็ย่างเหยาะมาในระวางกลางผ้าขาว | |
ออกถนนคนผู้ดูเกรียวกราว | มาพบเจ้าจางวางหมอก็รอรั้ง | |
นางสี่คนถือม่านพานตาขาว | ด้วยกลัวเจ้าก็หยุดทรุดลงนั่ง | |
หม่อมก็ยืนแข็งเก้อกะเบอกะบัง | ครั้นจะทรุดลงนั่งก็อายใจ | |
ก็ยืนซื่อดื้อคว้างอยู่กลางถนน | ผู้คนคับคั่งทั้งวังใหญ่ | |
มิรู้ที่จะวางหน้าลงเท่าไร | สู้แข็งใจอยู่จนเสด็จจร | |
๏ครู่หนึ่งก็มาถึงพระวังใน | ตรงไปที่ตึกคุณสุดก่อน | |
ครั้นเพลาสายัณห์ตะวันรอน | ก็พากันจรขึ้นเฝ้าพระทรงธรรม์[2] | |
พระชุบเลี้ยงขึ้นเป็นนางระวางห้าม | ตั้งตามตำแหน่งวังหน้านั่น | |
กับคุณสุดที่เป็นคู่อยู่ด้วยกัน | ทอดสนิทติดพันกันสืบไป | |
แล้วโปรดปรานพระราชทานหม่อมขำมา | ให้เป็นข้าในพระตำหนักใหญ่ | |
เป็นเกณฑ์โปรดคนสนิทชิดใช้ | จะเจรจาปราศรัยเป็นไพรเม็ด | |
ฝ่าพระบาทจึ่งพระราชทานนาม | ยกจากห้ามขึ้นเป็นจอมเรียกหม่อมเป็ด | |
ริมฝีปากสู้เอากระเหม่าเช็ด | ในเสด็จใช้นางอย่างผู้ดี | |
หมั่นผัดพักตร์ผิวผ่องละอองหน้า | แต่ทันตาอันตรายไปหลายซี่ | |
ประจงตัดจัดกะลาที่หนาดี | ใส่เข้าที่แทนฟันทุกอันไป | |
ที่ไม่รู้ดูเหมือนกับสาวน้อย | กระชดกระช้อยเจรจาอัชฌาสัย | |
คุณสุดสุดสวาทจะขาดใจ | แต่เวียนไปเวียนมาทุกราตรี | |
สู้ติดสอยมาให้ใช้ใต้ฝ่าพระบาท | ก็เปรื่องปราดโปรดปรานประทานที่ | |
ชื่อคุณโม่งโด่งดังฝีปากดี | จะพาทีกลางสนามไม่ขามใคร | |
พูดเล่นเฮฮาร่าเริงแรง | ถึงนายแฟงนายคงครูไม่สู้ได้ | |
แหลมฉลาดปรีชาปัญญาไว | หนังสือไทยอ่านคล่องทำนองชาย | |
รู้จักทำกาพย์กลอนอักษรสาร | สำหรับอ่านพระราชนิพนธ์ถวาย | |
หนังสือตกอ่านแต้มไม่แย้มพราย | อ่านอยู่ปลายพระแท่นบรรทมใน | |
แต่ปากอ่านใจคิดขนิษฐ์เป็ด | มิใคร่จะเสร็จสิ้นสุดสมุดได้ | |
จนล่วงมัชฌิมยามสองย่ำฆ้องชัย | จะหยุดไว้ก็เกรงพระอาชญา | |
หม่อมเป็ดน้อยค่อยเตือนให้เพื่อนนอน | เฝ้าเคืองค้อนแค้นขัดสะบัดหน้า | |
ยังไม่ทรงพระบรรทมตรมอุรา | แต่ชายตาดูพักตร์พยักกัน | |
เห็นพระองค์ทรงนิ่งไม่ติงพระกาย | เดือนก็ชายดึงด่วนให้ป่วนปั่น | |
หับสมุดหยุดยั้งฟังสำคัญ | ด้วยกระสันเสียวซ่านรำคาญใจ | |
พระแกล้งทรงพระกรรสะจะให้รู้ | ว่าตื่นพระบรรทมอยู่หาหลับไม่ | |
คุณโม่งก็ชะงากกระดากใจ | ก็แข็งจิตอ่านไปใจประวิง | |
ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ | หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง | |
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง | ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย | |
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท | ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่ | |
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ | ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง | |
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท | อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง | |
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง | จึ่งตรัสเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา | |
ข้างหม่อมเป็ดเสด็จท่านโปรดปราน | ได้ประทานเปลี่ยนนามตามยศถา | |
เพราะเดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา | จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน | |
พระชุบย้อมอย่างดีให้มีศักดิ์ | คนในพระตำหนักไม่หักหาญ | |
เป็นจอมฝูงสูงโสดคนโปรดปราน | ห้ามทวารมิให้ออกนอกเวียงชัย | |
๏เพลาหนึ่งหม่อมเป็ดเห็นเสด็จประทม | ชวนข้าในกรมลงตำหนักแพใหญ่ | |
ลงอาบน้ำดำว่ายสบายใจ | แล้วสั่งให้เรียกเรือหนมจีนมา | |
ทั้งห่อหมกนกคั่วใบบัวอ่อน | ทอดมันจันลอนไว้นักหนา | |
ซื้อรับพระราชทานชานชลา | ยิ่งโอชารสร่ำซ้ำหนักไป | |
สิ้นหลายควบจวบสลึงถึงขนาด | เตโชธาตุหาทันผลาญอาหารไม่ | |
ในท้องปวดนวดนิ่งอยู่ในใจ | จะบอกใครก็อดสูดูไม่ดี | |
ครั้นปวดท้องเต็มทนจนสิ้นอาย | ลุกวิ่งจะไปถ่ายให้ถึงที่ | |
ด้วยเหลือทนพ้นกระสันพันทวี | ก็ราดเรี่ยเสียทีมาตามทาง | |
ก็ซื้อขนมให้ตาเฒ่าเฝ้าตำหนัก | ให้ตักน้ำชำระสะสาง | |
ให้หมดสิ้นกลิ่นอายระคายคาง | ช่วยอำพรางเสียให้มิดช่วยปิดบัง | |
๏วันหนึ่งจึ่งหม่อมเจ้าจอมเป็ด | ขึ้นเล่นไพ่ในเสด็จหน้าที่นั่ง | |
หลายกระดานนานเนิ่นเกินกำลัง | ให้คับคั่งในอุทรร้อนรนใจ | |
นั่งนวดปวดป่วนจวนจะออก | มิอาจบอกความจริงกับใครได้ | |
ถวายบังคมก้มคลานลนลานไป | ให้อาวรณ์ร้อนในเหมือนไฟลุก | |
ครั้นถึงที่สรีร์สำราญซานเข้าไป | ออกสักอ่างว่างใจค่อยได้สุข | |
ค่อยเสื่อมคลายหายรำคาญที่พล่านพลุก | ครั้นสิ้นทุกข์แล้วก็กลับมาฉับไว | |
เดินดิ่งเข้ามาถึงพระตำหนัก | ไม่หยุดพักคลานตรงไปลงไพ่ | |
ครั้นเกินเพลาหน้านิ่วหิวสุดใจ | ผ่อนธาตุในออกเสียหมดอดไม่ได้นาน | |
ท้องแห้งท้องเหี่ยวนั่งเปรี้ยวปาก | ทรหดอดหมากทั้งอยากหวาน | |
นั่งหิวนิ่วหน้าอยู่ช้านาน | แล้วค่อยคลานมาข้างเครื่องชำเลืองตา | |
เห็นว่างคนทนไม่ได้ด้วยใจเงี่ยน | เลื่อนเอาทุเรียนมาทั้งแบบวางแอบฝา | |
หยิบเข้าเคี้ยวเหนียวครันเจ็บทันตา | แล้วเอามายัดในลงในตะบัน | |
ครั้นละเอียดลออพอกินได้ | กระทุ้งใส่เข้าจนสิ้นกินขันขัน | |
พอท้องคลายหายร้อนอ่อนอ่อนฟัน | คิดสำคัญว่าผู้ใดเขาไม่รู้ | |
แล้วมิหนำซ้ำลักเอาผลบัว | ที่เขาคั่วใส่เครื่องยังมีอยู่ | |
ใส่ตะบันเล่นสบายคล้ายหมากพลู | ครั้นลุงทองจีนแลดูกระดากใจ | |
ลุงอ่อนถามว่าอะไรในตะบัน | หม่อมเป็ดปิดคิดกันพูดแก้ไข | |
มิให้คนรู้เท่าเข้าใจ | ด้วยความในไม่สู้ดีจะตรีชา | |
ว่าเหลือกำลังนั่งเคี้ยวฉันเปรี้ยวปาก | ตะบันหมากกินดอกจ๊ะคุณลุงจ๋า | |
แล้วเบือนบิดปิดปากไม่เจรจา | ครั้นโอษฐ์อ้าไม่เห็นแดงจะแคลงใจ | |
อันคนแก่ตะบันหมากมากด้วยกัน | แต่ซึ่งตะบันทุเรียนหามีไม่ | |
ผลบัวก็ตะบันขันสุดใจ | น่าจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์ | |
๏วันหนึ่งจึ่งท่านหลวงนายศักดิ์ | นุ่งสมปักเข้าไปในพระราชฐาน | |
สำหรับเดินคอยเชิญพระอาการ | มาพูดกับท่านเจ้าขรัวนายข้างฝ่ายใน | |
หม่อมเป็ดน้อยพลอยมาทำพย่ำเผยอ | พูดเจ้อจีบปากถลากไถล | |
เอาลิ้นดันฟันกะลาเลื่อนออกไป | ไหมเปื่อยขาดปุดหลุดลงมา | |
ตกเปาะจำเพาะหน้าหลวงนายศักดิ์ | ก็ถามทักทันใดอะไรขา | |
หม่อมอายบ่ายเบี่ยงเลี่ยงเจรจา | ซึ่งตกมาจากปากหมากตะบัน | |
เด็กมันตำไม่สู้แหลกแตกสองซีก | เคี้ยวก็หลีกกระเด็นกระดากจากปากฉัน | |
ทำพิโรธโกรธบ่าวคนตะบัน | แล้วหยิบเอาฟันกะลามาสวมไว้ | |
ดีจริงใจหม่อมไม่ยอมแก่ | อุตส่าห์แก้ตัวปลิ้นสิ้นสงสัย | |
จะแจ้งจริงกับหลวงนายก็อายใจ | เพื่อมิให้รู้แน่ว่าแพ้ฟัน | |
สู้ต่อติดปิดป้องที่ช่องหัก | เอาไหมสักผูกติดให้มิดมั่น | |
ดูระเบียบเรียบดีเรียงสีฟัน | ที่ไม่รู้ดูสำคัญว่าฟันดี | |
๏ครั้งหนึ่งจึ่งจอมหม่อมเป็ดน้อย | เช้าสำออยออเซาะปะเหลาะพี่ | |
ทำหน้านิ่วว่าฉันหิวใจเต็มที | มีอะไรบ้างหนอขอรับประทาน | |
คุณโม่งช้อนคางทางพาที | ว่ามั่งมีในห้องของเปรี้ยวหวาน | |
หม่อมเป็ดดีใจไปลนลาน | เที่ยวค้นคว้าช้านานรำคาญใจ | |
เกลือสินเธาว์เอาไว้จะทำยา | คิดว่าขันทศกรทั้งก้อนใหญ่ | |
ไม่ทันพิจารณาว่าสิ่งไร | หยิบใส่ปากอมเข้าซมซาน | |
พอรสเกลือนั้นละลายแสบปลายลิ้น | ก็รู้ว่ากินก้อนเกลือไม่เจือหวาน | |
ฮึดฮัดขัดใจใช่น้ำตาล | ใจให้ดาลเดือดขุ่นคิดวุ่นวาย | |
ยิ่งปลอมก็ยิ่งแกล้งแสร้งสำออย | เฝ้าตะบอยบ่นร่ำระส่ำระสาย | |
ลวงให้กัดก้อนเกลือฉันเหลืออาย | เข้าตะกายหยิกตีเอาพี่นาง | |
คุณโม่งก็ยิ่งปลอบพะงอบง้อ | ทำอ่อนคอบ้าบ่นไปจนสว่าง | |
แสนพิโรธโกรธใจดั่งไฟฟาง | ยิ่งวอนว่าก็ยิ่งวางขึ้นหนักไป | |
โกรธงกยกท้าวกระทืบโผง | ฝ่ายคุณโม่งโกรธมั่งไม่ยั้งได้ | |
จนเกิดทะเลาะเบาะเถียงเสียงอึงไป | จนขนัดใจโกรธขึ้งถึงตัดกัน | |
คุณโม่งว่าถึงจะตัดไม่ขัดใจ | เรามิได้ร้อนจิตคิดพรั่น | |
แต่ของเข้าน้อยนิดที่ติดพัน | คือเอาฟันกะลามาเดี๋ยวนี้ | |
หม่อมเป็ดเข็ดปากไม่อยากพูด | คลานเข้าพระวิสูตรหลบหน้าหนี | |
แล้วคิดได้ด้วยไวปัญญาดี | ขึ้นลอยหน้าพาทีประชดประชัน | |
ขนมปลากริมที่ให้ไว้วานซืน | โกรธข้าเจ้าเอาคืนมาให้ฉัน | |
คงจะให้ไม่ลวงที่พวงฟัน | ให้สิ้นสวาทขาดกันแต่นี้ไป | |
คุณโม่งตอบพลางแล้วทางยิ้ม | ขนมปลากริมของหลวงประทานให้ | |
ยังแค่นทวงวุ่นวายไม่อายใจ | หรือว่าเธอซื้อไว้ให้ข้ากิน | |
แม้นหม่อมไปตึกข้าเวลาใด | ก็หาให้ไม่กลัวจะหมดสิ้น | |
หม่อมก็ได้ไปมาเป็นอาจิณ | ของกินจัดไว้ให้รับประทาน | |
ครั้นถึงทีข้ามาหาแม่เป็ด | ก็ซื้อลังเล็ดขนมทองเป็นของหวาน | |
ก็ถ้อยทีหนุนเกื้อกันเจือจาน | นี่แกล้งพาลมิให้ทวงเอาพวงฟัน | |
หม่อมเป็ดน้อยว่าไม้สอยสนจำหลัก | หม่อมเช็ดไรเสียให้หักกลางสะบั้น | |
หมึกหอมเอาไปฝนปนน้ำมัน | โกรธกันจะขอรับประทานเอา | |
หม่อมโม่งว่าแป้งหินเขาสิ้นตลับ | เอาไปจับริมฝีปากต่างกระเหม่า | |
ฝางเสนเขาทั้งท่อนค่อนขูดเอา | อมเข้าไว้เหมือนหมากให้ปากแดง | |
ปนกับปูนนูนเหมือนสีลิ้นจี่จิ้ม | ให้จับขอบรอบริมขึ้นเป็นแสง | |
กานพลูผลกระวานสีพานแพง | แกล้งเอาปนหมากตะบันทุกวันมา | |
หมึกหอมของหม่อมค่ากี่เฟื้อง | ของเขาเปลืองยิ่งกว่านั้นฉันไม่ว่า | |
ทั้งสองฝ่ายหายกันอย่าฉันทา | แต่ของสำคัญฟันกะลาเอามาคืน | |
ข้างหม่อมเป็ดฟังคำทำร้องไห้ | สะทึกสะท้อนถอนใจให้สะอื้น | |
หมายจะโกรธจริงจังไม่ยั่งยืน | พอกลางคืนคนหลับกลับดีกัน | |
๏ครั้งหนึ่งพระองค์กรมวงศา | เสด็จมาในพระตำหนักนั่น | |
หม่อมเป็นนั้นเป็นต้นคนสำคัญ | สารพันเพ็ดทูลพระอาการ | |
ครั้นสิ้นเรื่องในพระโรคนั้นสำเร็จ | หม่อมเป็ดบังคมประสมประสาน | |
เกล้ากระหม่อมมึนหน้ามาช้านาน | ขอประทานยานัตถุ์เครื่องข้างใน | |
ฝ่ายเสด็จว่าหม่อมเป็ดปวดศีรษะ | เราจะช่วยเป่ายานัตถุ์ให้ | |
ก็เทจากขวดน้อยเจียระไน | ใส่เข้าไว้ในกล้องสักสองนัด | |
แกล้งเลือกเอายาแดงที่แรงร้าย | ให้หม่อมหงายหน้าตรงทรงเป่าปรัด | |
น้ำตาไหลจามไอศีรษะฟัด | จนฟันพลัดตกเปาะจำเพาะพักตร์ | |
กรมวงศ์ทรงทอดพระเนตรมา | เห็นกะลาทำฟันให้ขักหนัก | |
แล้วก็ทรงพระสรวลสำรวลคัก | หม่อมอายนักก้มหน้าไม่พาที | |
เสด็จตรัสว่ายานัตถุ์ดีขยัน | แต่ฟันคนเจียวยังหลุดออกจากที่ | |
นี่หรือโรคจะไม่คลายหายดี | บัดเดี๋ยวนี้ก็จะหายไปคล้ายฟัน | |
หม่อมเป็ดอายเสด็จไม่อยู่ได้ | แกล้งไถลเลื่อนหลีกไปจากนั่น | |
เที่ยวค้นคว้าหาไหมอยู่เป็นควัน | ผูกฟันเสียใหม่ให้ดิบดี | |
ดิฉันกล่าวตามราวเรื่องโบราณ | หม่อมมาพาลโกรธไปไม่ต้องที่ | |
คำปะรำปะราว่าไว้มี | ฉันพบเห็นเช่นนี้จึ่งขับไป | |
มาถือโทษโกรธวุ่นคุณรับสั่ง | พลอยโกรธทั้งคุณเหมหาควรไม่ | |
ลุงทองจีนมิได้บอกออกฉันใด | เผ้าพิไรโกรธฮึกออกคึกคัก | |
ทราบเพราะเสด็จดอกท่านบอกฉัน | มาพลอยโทษโกรธท่านหลวงนายศักดิ์ | |
ลุงทองจีนก็ไม่ได้เห็นพักตร์ | ได้รู้จักกันกับฉันนั้นเมื่อไร | |
แล้วไปโทษนายผึ้งว่าเพื่อนบ้าน | ได้เอ่ยบอกวานฉันที่ไหน | |
นี่เรื่องเก่าเขามีมาแต่ไร | หรือพอกระทบจริงใจจึ่งแค้นนัก | |
เฝ้าคมค้อนเคืองเข็ญไม่เว้นใคร | โกรธบรรดาข้าไทในพระตำหนัก | |
หม่อมกระไรใจคอนี้น้อยนัก | ฉันประจักษ์แจ้งความตามนิยาย | |
กระทบเรื่องของซื้อเขาหรือจ๊ะ | จึ่งเกะกะโกรธร่ำระส่ำระสาย | |
ไม่มีใครบอกนุสนธิ์ต้นปลาย | ลายไปผุดขึ้นตำบลถนนอาจารย์ | |
ฉันพบเห็นตำราจึ่งว่าไป | ขออภัยเถิดอย่าโกรธดิฉาน | |
ถ้าแม้นหม่อมรักตัวกลัวอัประมาณ | ก็บนบานคนขับจะรับไว้ | |
ถ้าหม่อมอายเสียดายชื่อจะลือชา | ก็เอาเงินเอาผ้านั้นมาให้ | |
ฉันจะลบตำรับไม่ขับไป | จงถึงใจตาแจ้งเสียเถิดรา | |
คืนนี้กระหม่อมฉันนอนฝันไป | ว่าคุณข้างในกล่าวขวัญฉันหนักหนา | |
เพลาดึกสองยามย่ำนาฬิกา | คุณโม่งลงมาจากพระตำหนักใน | |
กับหม่อมเป็ดสองคนมาสนทนา | ที่ตรงหน้าเตียงทองที่ห้องใหญ่ | |
หม่อมเป็ดว่าคุณจ๋าฉันเจ็บใจ | คนพิไรค่อนว่าสารพัน | |
เก็บเอาความไม่ดีไปชี้แจง | ว่าตาแจ้งตะแกจะรู้อะไรนั่น | |
ลุงทองจีนนั่นแหละต้นคนสำคัญ | คุณชีเหมก็ขยันข้างแคะไค้ | |
หลวงนายศักดิ์นายผึ้งก็ปากบอน | ค่อนบอกความจริงจนสิ้นไส้ | |
ให้อับอายขายหน้าระอาใจ | ค่อนพิไรกล่าวขวัญพรรณนา | |
ข้างคุณโม่งจะแกล้งพ้อหรือยอฉัน | ว่าตาแจ้งแกขยันแม่ขำจ๋า | |
แกช่างประดิษฐ์ติดกรับขับเสภา | จะหาเหมือนตะแกแท้ยากครัน | |
ข้างหม่อมขำฟังคำซ้ำขัดใจ | ดีอะไรกับตาแกแกล้งกลั่น | |
สาระวอนค่อนว่าสารพัน | กล่าวขวัญเราสองคนเป็นพ้นนัก | |
พวกเราแหละไปเล่าให้ความอึง | คุณชีเหมนายผึ้งหลวงนายศักดิ์ | |
ลุงทองจีนก็ครันขยันนัก | เพราะคนในพระตำหนักจึ่งความอึง | |
ครั้นเช้าคุณเหมมาพระตำหนัก | พอพบพักตร์หม่อมขำทำปั้นปึ่ง | |
แล้วเสกแสร้งแกล้งว่าชักหน้าตึง | ว่าพวกนายศักดิ์นายผึ้งแล้วเป็นไร | |
คุณชีเหมเคืองขัดสะบัดหน้า | มาโทษเอาข้าสองคนกระนี้ได้ | |
วันนี้จะให้เสภาว่าหนักไป | พอสิ้นฝันฉันตกใจตื่นขึ้นมา | |
คืนนี้กระหม่อมฉันฝันอีกครั้ง | ว่าความในวังชุลมุนวุ่นนักหนา | |
พอเกล้ากระหม่อมรัวกรับขับเสภา | หม่อมเป็ดมาแฝงบานทวารบัง | |
คิดว่าจะขับเรื่องตัวกลัวอาย | แกล้งอุบายพูดหลอกบอกคุณรับสั่ง | |
ว่าทรงกริ้วพระสุรเสียงสำเนียงดัง | อย่าให้ตาแจ้งวัดระฆังขับต่อไป | |
คุณรับสั่งรู้เท่าว่าเขาหลอก | อุบายบอกหาให้ขับเรื่องตัวใหม่ | |
จึงไม่เข้าทูลฉลองตรองอยู่ในใจ | เอาความไปกราบทูลเจ้าวางจาง | |
ประเดี๋ยวนี้หม่อมเป็ดขำสำออยนัก | ขึ้นนั่งตักคุณโม่งไม่คิดหมาง | |
หลวงนายศักดิ์แลไปในม่านกลาง | ใครสร้างพระสี่ขาเข้ามาไว้ | |
หม่อมเป็ดน้อยเป็ดสวรรค์ครั้นได้ฟัง | ละอายใจไม่นั่งอยู่ตักได้ | |
หลบหน้าเข้าในม่านรำคาญใจ | มิใคร่จะพูดกับหลวงนายอายเต็มที | |
แล้วก็พากันมานั่งข้างเก๋งเสวย | หม่อมเป็ดเอ่ยออเซาะปะเหลาะพี่ | |
เบื่อเดือนสิบสองตาแจ้งขับรับกับนายมี | ตลับทองของดีก็หายไป | |
ถึงเวลารับประทานอาหารค่ำ | คุณลุงซ้ำให้อีเปียมาเกลี่ยไกล่ | |
จึ่งเอ่ยออกบอกพลันไปทันใด | เชิญคุณทั้งสองไปรับประทาน | |
หม่อมเป็ดบอกกับอีเปียพี่เสียใจ | เราไม่ไปกินแล้วของคาวหวาน | |
จะฟังเสภาตาแจ้งถนนอาจารย์ | ให้หายรำคาญขุ่นคิ่นในวิญญาณ์ | |
ลุงทองจีนซ้ำเดินมาเชิญใหม่ | พูดกันถึงอะไรหม่อมจำ | |
ฉันเห็นพูดกันเพลินเกินเวลา | ไปรับประทานข้าวปลาให้สุขใจ | |
หม่อมเป็ดรำคาญง่านหงุดหงิด | เกรงจิตลุงทองจีนไม่ขัดได้ | |
ให้ป่วนหวดในอุทรร้อนธาตุใน | ประเดี๋ยวหนึ่งจึงจะไปดอกเจ้าคะ | |
ว่าแล้วลุกจากที่ตะลีตะลาน | ออกทวารลุกวิ่งมาเกะกะ | |
ถึงที่ก็หายคลายทุกข์ที่ท้องปะทะ | อุจจาระเสร็จแล้วก็รีบมา | |
ครั้นมาถึงพี่นางทางบอกพลัน | กินข้าวมันเถิดหรือจ๊ะคุณโม่งจ๋า | |
คุณเสียยอไม่ได้ก็ไคลคลา | รับประทานแล้วก็เข้ามานั่งด้วยกัน | |
ยายปานบุตรผุดปากขึ้นทันที | ตาแจ้งดีตีกรับขับขยัน | |
จะไว้วางเป็นจังหวะฉะฟัน | ทั้งขันทั้งเพราะเสนาะดี | |
หม่อมเป็ดฟังคำแล้วซ้ำเคือง | กระทืบเท้าเปรื่องเปรื่องขึ้นในที่ | |
ออปานลูกมึงจะถูกไม้เรียวรี | คนอะไรไม่มีอัธยา | |
อย่ามานั่งอยู่ที่กูดูไม่ได้ | ก็ลุกเข้าไปทั้งสองห้องเคหา | |
ลงเรียบเรียงเคียงชิดกันนิทรา | เอานวมมาห่มหุ้มคลุมเข้าด้วยกัน | |
หม่อมเป็ดขำซ้ำเรียกหนูลิ้นจี่ | ไปหยิบผ้ามาทีในหีบนั่น | |
ห่มนอนดำร่ำไว้เมื่อกลางวัน | กระแจะจันทน์เจือปรุงจรุงใจ | |
ให้เมื่อยขบไปทั้งตนบ่นออดแอด | ให้เรียกแพทย์วาโยมานวดให้ | |
คุณโม่งตัดสกัดกั้นไปทันใด | ฉันจะนวดหม่อมให้ใจสบาย | |
หม่อมว่าฉันไม่ใช้ให้คุณทำ | บาปกรรมนั้นจะมีไปมากหลาย | |
พูดพลอดกอดกริ่มยิ้มพราย | แล้วคิดระคายคำคนบ่นร่ำไร | |
สำออยว่าหม่อมขาฉันแค้นนัก | เสียเงินสักสิบตำลึงหาคิดไม่ | |
ไม่เท่าเสียรู้มนุษย์เจ็บสุดใจ | เฝ้าแคะได้ค่อนว่าสารพัน | |
เก็บเอาความไม่ดีไปชี้แจง | คุณชีเหมเชียวไปแสร้งแกล้งกลั่น | |
คนในพระตำหนักพรรคพวกกัน | สารพันค่อนว่าเป็นน่าอาย | |
คนนั่งอยู่ริมห้องรองเข้าไป | ฉันเข้าใจอยู่ดอกหม่อมอย่าแปดป่าย | |
มิได้พลอยกล่าวข้อบรรยาย | เนื้อไหนร้ายก็ตัดแต่เนื้อนั้น | |
หม่อมเป็ดพูดเก้อละเมอเปล่า | ได้ยินเขาท้วงติงก็นิ่งอั้น | |
มิได้พูดจาสารพัน | ก็หลับเลยไปด้วยกันทั้งสองรา | |
๏ครั้งหนึ่งเป็ดสวรรค์กระสันจิต | บอกกับคนชอบชิดสนิทหน้า | |
ว่าคุณโม่งคู่ชีวิตมานิทรา | อยู่ในห้องของข้ามาหลายวัน | |
พูดแล้วก็ปรามห้ามปาก | อย่าพูดมากไปให้ฉาวคนจะกล่าวขวัญ | |
เจ้าจงช่วยกันปกปิดให้มิดควัน | เสร็จสั่งดั่งนั้นก็นิ่งไป | |
หม่อมเป็ดชนอกช้ำคำเสภา | อดสูดูหน้าใครไม่ได้ | |
เห็นคุณชีเหมมาว่าร่ำไร | พบใครเข้าก็ค้อนออกงอนชด | |
เห็นหน้าคุณรับสั่งคั่งแค้นนัก | ลุงทองจีนหลวงนายศักดิ์ก็โกรธหมด | |
ท่านโกรธไปทั้งนั้นประชันประชด | ปากบดบดบ่นไปคนใกล้เคียง | |
เมื่อวันถวายเสภาเวลาหลัง | หม่อมเป็ดนั่งกับคุณโม่งที่ในเฉลียง | |
กระซุบกระซิบกันสองคนบนระเบียง | ได้ยินออกชื่อเสียงก็ขัดใจ | |
แกล้งพูดเสียดเอาว่าเกลียดตาแจ้งบ้า | เฝ้าขับว่าเรื่องเราร่ำไปได้ | |
ไม่รู้แล้วรู้รอดสอดพิไร | เฝ้าค่อนขอดแคะได้เจ็บใจจริง | |
ครั้นเห็นคนเดินมาหน้าเฉลียง | สงบเสียงผุดลุกจะผลุนวิ่ง | |
คุณโม่งยุดฉุดน้องประคองอิง | เรานั่งนิ่งอย่างนี้มิเป็นไร | |
ถึงลุงทองจีนจะขึ้นมาเห็นหน้าเรา | จะหยิบเอาข้อผิดที่ไหนได้ | |
หม่อมจะว่าตาแจ้งแกทำไม | ฉันชอบใจแกอยู่ดอกอย่าเดือดแค้น | |
ฝ่ายหม่อมเป็ดสวรรค์ครั้นได้ฟัง | ให้แค้นคั่งส่งเสียงขึ้นเปรี้ยงแปร้น | |
คุณกลับเข้าข้าตาแจ้งแกล้งแก้แทน | ให้สุดแสนเจ็บใจใช่พอดี | |
กระทืบเท้าตึงตังกำลังทะเลาะ | พอลุงทองจีนเดินเดาะมาถึงที่ | |
จึ่งร้องถามสองท่านไปทันที | มาอึงมี่วิวาทอะไรกัน | |
หม่อมเป็ดฟังคุณลุงสะดุ้งใจ | ลุกไถลหลีเลี่ยงไปจากนั่น | |
ทั้งสองคนวนวิ่งพัลวัน | มิให้ทันเห็นกายด้วยอายนัก | |
ลุกหลีกลัดแลงไปแฝงตน | ซ่อนตัวกลัวคนจะรู้จัก | |
วิ่งมาบนเฉลียงเสียงคิกคัก | จนรอดหักหกล้มลงด้วยกัน | |
คุณโม่งล้มปับทับหม่อมเป็ด | น้ำตาเล็ดผุดลุกขมีขมัน | |
แล้วคิดกลัวคนผู้รู้สำคัญ | แกล้งถลันกล่าวเกลื่อนให้กลบคำ | |
เพราะตาแจ้งขับเสภามาฟังนัก | เฉลียงหักยับไปไม่เป็นส่ำ | |
นึกเกลียดน้ำหน้าตาเจ้ากรรม | ใช้ตาแจ้งแกมาทำให้หนำใจ | |
ทำเป็นพูดเชือนแชพอแก้ตน | คุณสองคนก็ขึ้นนอนบนเตียงใหญ่ | |
พลิกพลอดกอดก่ายสบายใจ | เทียบประทับหลับไหลไปด้วยกัน | |
๏ครั้นอรุณรุ่งรางสว่างฟ้า | พระเดชพระคุณให้หาหม่อมเป็ดสวรรค์ | |
เมื่อเพลาพลบค่ำทำไมกัน | จนชั้นเฉลียงเตียงหักกระจัดกระจาย | |
หม่อมเป็ดทูลเบี่ยงเลี่ยงเจรจา | คนมานั่งฟังเสภามากหลาย | |
ตาแจ้งขับเสภาว่าแยบคาย | คนทั้งหลายไม่เคยฟังประดังมา | |
ประทุกมากหลายคนบนระเบียง | จนเฉลียงเก๋งหักลงนักหนา | |
เป็นต้นเหตุผลเพราะเสภา | คนเข้ามาฟังนักจึ่งหักไป | |
พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง | ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข | |
เขาว่าเจ้านั่งอยู่สองคนบ่นร่ำไร | แคะไค้คมค้อนทำงอนรถ | |
กระทืบเท้าผึงผางกลางระเบียง | จนเฉลียงไม้สักเขาหักหมด | |
จะแกล้งมาพูดบิดเบี้ยวเลี้ยวลด | เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน | |
หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว | ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น | |
ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์ | อภิวันท์สารภาพกราบกราน | |
ได้พลั้งพลาดขอพระราชทานโทษ | ขอพระองค์ทรงโปรดกระหม่อมฉาน | |
ไปเบื้องหน้าตาแจ้งถนนอาจารย์ | จะขับเสภาว่าขานไม่เคืองใจ | |
พระสดับรับผิดหม่อมสารภาพ | เห็บเรียบราบแล้วก็โปรดยกโทษให้ | |
จึงตรัสสั่งข้างหน้าทหารใน | ทำเฉลียงเก๋งใหม่ให้ดิบดี | |
๏ครั้นรุ่งเช้าถึงเวลาเสพย์อาหาร | หม่อมเป็ดเรียกลูกปานมาในที่ | |
จัดเรือใหญ่ใบเสาเข้าให้ดี | ไปถึงที่เมืองละครอย่านอนใจ | |
ซื้อข้าวเหนียวสังขยามาให้ทัน | เอาถ้วยโคมใบนั้นแหละไปใส่ | |
ยายปานลูกผูกเสาเชือกเพลาใบ | แล่นไปครู่หนึ่งถึงเมืองละคร | |
ซื้อข้าวเหนียวสังขยามาถ้วยโคม | ก็แล่นฝืนคลื่นโครมไม่หยุดหย่อน | |
ครั้นถึงเกาะแบกสังขยาพาจร | รีบร้อนเร็วไปในประตูพลัน | |
หลวงนายศักดิ์ถามทักไปทันใด | สังขยาถ้วยใหญ่ของใครนั่น | |
ยายปานว่าหม่อมเป็ดเธออยากครัน | ใช้ฉันไปซื้อถึงเมืองละคร | |
ฝ่ายหม่อมนิ่งนอนคอยคอยหา | เห็นปานมาผุดลุกขึ้นจากหมอน | |
กำลังอยากสังขยาให้อาวรณ์ | ถึงเตียงหย่อนก้นกักเตียงหักพลัน | |
พื้นพังดังสวบเสียงกรวบกราบ | เสียงก้องกาบกาบเหมือนเป็ดขัน | |
กับหม่อมระบายผายลมประสมกัน | เหมือนเป็ดสวรรค์ที่ฉันเลี้ยงไว้วัดระฆัง | |
ยายปานลุกช่วยกันผูกเตียงเสียใหม่ | ครั้นหม่อมสิ้นตกใจก็ไปนั่ง | |
เปิบข้าวเหนียวมูมมูมสุ่มตะรัง | หมดทั้งถ้วยโคมไม่ใคร่พอ | |
ครั้นรับประทานแล้วขึ้นไปนั่งในพระตำหนัก | หลวงนายศักดิ์พบตัวก็หัวร่อ | |
ว่าหม่อมกินสังขยาไม่รารอ | เตียงเขาต่อด้วยไม่สักยังหักไป | |
หม่อมเป็ดตอบหลวงนายด้วยอายหน้า | นายไปรู้ความมาแต่ข้างไหน | |
หรือใครมาบอกเล่าจึ่งเข้าใจ | การแคะได้พาทีแล้วดีนัก | |
หลวงนายว่าข้าพเจ้าประจักษ์ตา | หม่อมเปิบสังขยาจนเตียงหัก | |
ฉันไม่ได้สอดความไปถามซัก | เพราะเห็นประจักษ์แก่ตาจึ่งพาที | |
หม่อมเป็ดตรึกนึกแหนงอยู่ในใจ | ตัวคนไรไปเล่าจนถ้วนถี่ | |
จะเป็นคนอื่นไกลนั้นไม่มี | เพราะลุงทองจนพาทีทุกสิ่งอัน | |
แม้นมิบอกหลวงนายอีกนายหนึ่ง | ก็บอกนายผึ้งตาพองเป็นแม่นมั่น | |
จึ่งได้แจ้งกิจจาสารพัน | ให้ตาแจ้งมาแกล้งกลั่นบรรยาย | |
ครั้นเขาทำน้ำยาเวลาค่ำ | หม่อมเป็นขำนึกอยากเป็นมากหลาย | |
เคยรับประทานครั้งไรไม่สบาย | กระหายหอบบอบช้ำระกำใจ | |
ลุงทองจีนจึ่งปรามห้ามหม่อมเป็ด | น้ำยาเผ็ดแสบร้อนกระฉ่อนไส้ | |
ของแสลงแล้วจะแกล้งรับทานไย | จะหอบฮักหนักไปจะเสียที | |
หม่อมเป็ดตอบคำว่าน้ำยา | รับทานมาเผ็ดร้อนแต่ก่อนกี้ | |
โดยจะหอบขึ้นมายาฉันมี | คุณโม่งพี่ดิฉันท่านสอนไว้ | |
ลุงทองจีนจะใคร่ได้รู้ความ | จะซักถามเอาตำรายาให้ได้ | |
หม่อมเป็ดปิดอิดเอื้อนเบือนบิดไป | เพื่อมิให้ใครรู้ตำรายา | |
ครั้นเวลาระฆังตีสี่ทุ่มนาน | เขายกเอาพานขนมจีนมาตั้งหน้า | |
หม่อมเป็ดเจาะปากอยากเต็มประดา | เข้าคว้าเอาทันทีตะลีตะลาน | |
คุณลุงว่าน้ำยากินไม่ชอบ | จะหืดหอบขึ้นมามากลำบากจ้าน | |
มิพอที่จะตนทนทรมาน | จะรับประทานทำไมให้เวทนา | |
หม่อมเป็ดอยากเหลือทนจนสิ้นอาย | แล้วอุบายลุงทองจีนจ๋า | |
ถึงจะหอบขึ้นเดี๋ยวนี้ฉันมียา | ก็ออกบอกตำรามาพลัน | |
โดยน้ำยามานั้นไม่ชอบจะหอบโครง | คุณโม่งหม่อมพี่เธอสอนฉัน | |
เอาดอกลำโพงมาใส่ลงในตะบัน | เกลือสินเธาว์เท่ากันขยันจริง | |
ตะบันไปให้ละเอียดเฉียดยาบด | กินให้หมดที่ตะบันนั้นยวดยิ่ง | |
เบากายหายฉิบเหมือนหยิบทิ้ง | ไม่เกรงกริ่งโรคาเพราะยามี | |
และหยิบหนมจีนน้ำยามาคลุกเคล้า | เปิบเข้ายังไม่ทันอิ่มถึงที่ | |
ได้เจ็ดคำหอบทำขึ้นทันที | มือยังมิทันล้างก็วางชาม | |
ลุกมาเรียกหาลูกปานพลัน | เอาดอกลำโพงมาตะบันกระผลีกระผลาม | |
ปนกับเกลือสินเธาว์เข้าพองาม | บั้นเข้าสามสี่ก้อนลูกกลอนกลืน | |
ครั้นล่วงเลยลำคอก็พอคลาย | หอบหายลงไปได้ในใจชื่น | |
ครั้นล้างมือเสร็จสรรพขยับยืน | ก็กลับคืนเข้านิทราในราตรี | |
พอสักครู่ก็พอรู้รับสั่งให้หา | ก็เรียกลูกปานลุกมาขมันขมี | |
เขาขันใหญ่ปากจำหลักตักวารี | มาตั้งไว้ในที่ชำระกาย | |
ยายปานวิ่งงกงันหยิบขันตัก | สะดุดกักล้มคว่ำคะมำหงาย | |
ปากแตกหน้าเผือดเลือดกระจาย | ก็ร้องกรีดหวีดว้ายขึ้นทันที | |
หม่อมเป็ดตัวสั่นให้หวั่นจิต | เห็นโลหิตโซมสาดลงดาดที่ | |
ตกประหม่าหน้ามืดไม่สมประดี | อกสั่นขวัญหนีเหมือนตีปลา | |
ทอดลงลงบนม้าอุจจาระ | ลมปะทะมัวมึนขึ้นมืดหน้า | |
คุณโม่งตกใจจริงวิ่งออกมา | หยิบเอายานัตถุ์ให้สูดมะกรูดดม | |
แล้วประคองขึ้นบนตักตะพักไว้ | ประทับเส้นเคล้นไคล้ประคบประหงม | |
แล้วนวดฟั้นคั้นลงประตูลม | ค่อยชื่นชมฟื้นสมประดีกาย | |
คุณโม่งเข้าประคองน้องเป็ดน้อย | เฝ้าตะบอยบีบตะบมให้ลมหาย | |
คุณโม่งเห็นเป็ดสวรรค์นั้นค่อยคลาย | ก็พานางย่างกรายเข้าห้องใน | |
และเห็นเกลือสินเธาว์หยิบเอามา | สำคัญว่าพิมเสนประสมใส่ | |
กับยานัตถุ์ผิวมะกรูดสูดเข้าไป | บัดเดี๋ยวใจก็สบายหายวับตา | |
แล้วก็คิดสงสารยายปานบุตร | กำสรดสุดโศกรักเป็นหนักหนา | |
จะเจ็บช้ำระกำกายหลายเวลา | เมื่อยามอยากสังขยาจะใช้ใคร | |
เคยไปซื้อสังขยามาแต่ละคร | แล้วรีบร้อนมาหาทันแสบท้องไม่ | |
จะล้มหมอนนอนเสื่อเหลืออาลัย | เฝ้าร่ำไรโศกสุดถึงบุตรปาน | |
ครั้นโศกว่างวิ่งขึ้นมาเฝ้า | แต่จิตเศร้าอยู่ถึงบุตรสุดสงสาร | |
หมอบชม้อยคอยฟังบัญชาการ | มือประสานหมอบเมียงเคียงคุณลุง | |
๏วันหนึ่งคุณโม่งผู้โปร่งเปรื่อง | ให้บ่าวทำข้าเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง | |
ผักชีพริกไทยใส่ปรุง | น่ากินกลิ่นฟุ้งจรุงใจ | |
แล้วคิดถึงเป็ดฟ้าพะงางาม | ก็มูนใส่ไว้เป็นชามปากไปล่ | |
ทั้งหน้ากุ้งปรุงปนระคนไป | ก็ใช้บ่าวเอาไปให้หม่อมเป็ดพลัน | |
นางคนใช้เร็วจริงวิ่งหรบหรบ | มาถึงที่มิได้พบหม่อมเป็ดสวรรค์ | |
จะตะบอยคอยท่าเห็นช้าครัน | ข้าเหนียวนั้นฝากลุงทองจีนไว้ | |
ฝ่ายคุณลุงยุ่งอยู่ด้วยราชการ | ก็เนิ่นนานหาได้บอกหม่อมเป็ดไม่ | |
ข้าวเหนียวค้างอยู่จนเย็นเหม็นกระไอ | ครั้นจักได้แล้วบอกกับหม่อมพลัน | |
คุณให้บ่าวเอาข้าวเหนียวลงมาให้ | ฝากไว้ที่ในห้องของดิฉัน | |
ลืมไปจนเวลาจวนสายัณห์ | ข้าวเหนียวนั้นบูดไปไม่น่ากิน | |
กะทิมูนข้าวเหนียวเหม็นเปรี้ยวฟุ้ง | หน้ากุ้งค้างจนเย็นก็เหม็นกลิ่น | |
ข้าวเหนียวก็เปียกเปื้อนปนเป็นมลทิน | หม่อมจะกินหรือจะเทก็ตามที | |
หม่อมเป็ดได้ฟังนั่งคิด | กำลังจิตหมกมุ่นรักคุณพี่ | |
เธออุตส่าห์เอามาให้ถึงไม่ดี | จะเทข้าวเหนียวเสียเดี๋ยวนี้จะน้อยใจ | |
ก็ยกชามหยิบชิมยิ้มแผยะ | ถึงบูดแฉะชั่วดีของพี่ให้ | |
เพราะความรักชักให้อร่อยไป | จนหมดชามปากไปล่ใช่พอการ | |
ตำราว่ารับประทานด้วยการรัก | น้ำต้มฟักก็ซดเป็นรสหวาน | |
นี่ข้าวเหนียวบูดเหม็นไม่เป็นการ | ยังรับประทานหมดได้ไม่พอพุง | |
ครั้นเพลาพลบค่ำก็ทำท้อง | เพราะกินของบูดเปรี้ยวข้าวเหนียวกุ้ง | |
เรียกออพูเข้าไปที่ในมุ้ง | ให้นวดตนจนรุ่งพระสุริยา | |
เต็มทนจนออพูอยู่ไม่ได้ | ขัดใจเต็มทีก็หนีหน้า | |
คุณโม่งคอยหายไปไม่เห็นมา | มาต่อว่าตัดพ้อคอเป็นเอ็น | |
หม่อมยังไรใช้คนจนระอา | ให้หนีซนค้นคว้าหาไม่เห็น | |
บ่าวเขาให้มามากไม่ยากเย็น | นี่ขืนเคี่ยวเข็ญจนหนีไป | |
แม้นมันหนีลี้ลับไม่กลับมา | หม่อมเอาค่าตัวมันนั้นมาให้ | |
ไม่ติดตามมาจริงจริงนิ่งนอนใจ | จะส่งออกไปข้างหน้าว่าความกัน | |
หม่อมเป็ดได้ฟังก็นั่งนิ่ง | ด้วยผิดจริงช่วงใช้บ่าวไพร่ท่าน | |
เห็นคุณเธอพิโรธโกรธครัน | เฝ้าผ่อนผันวิงวอนให้อ่อนใจ | |
๏วันหนึ่งหม่อมนิทราเพลาดึก | นอนนึกอยากทุเรียนน้ำลายไหล | |
พอม่อยหลับลงพลันก็ฝันไป | ว่าชาวละครเอามาให้หลายใบนัก | |
แต่ละใบยวงใหญ่เท่ากำปั้น | ฉีกตะบันกินตะบอยอร่อยหนัก | |
พอหมดสิ้นสี่ใบใจคึกคัก | จุกจักกระแหล่นตายวุ่นวายใจ | |
ในความฝันนั้นว่าคุณโม่งพี่ | เข้านวดฟั้นเต็มที่หาหายไม่ | |
ยิ่งนวดก็ยิ่งหนักจักบรรลัย | สะดุ้งตื่นตกใจก็จุกจริง | |
กลิ้งเกลือกเสือกตนทนไม่ได้ | กระฉ่อนไส้ตัวสั่นดั่งผีสิง | |
ผิดลุกจากที่นอนเอาหมอนพิง | ป่วนปวดนวดนิ่งไม่บอกใคร | |
พอยายมาพี่เลี้ยงเคียงเข้ามาพลัน | หยิบเอาฟันสามพวงมายื่นให้ | |
ครั้นหม่อมเห็นพวงฟันเข้าทันใด | ดีใจหยิบรับเอาฉับพลัน | |
พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม่มะเกลือ | วิไลเหลือดำดีสีขยัน | |
พวงหนึ่งทำด้วยกะลาหนาครัน | เขาเจียนจัดขัดเป็นมันเหมือนทันตา | |
พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้ทองหลาง | ทำเหมือนอย่างซี่ฟันขันหนักหนา | |
เอาไหมร้อยเรียบเรียงดูเกลี้ยงตา | รับเอามาดูกริ่มแล้วยิ้มพราย | |
เขาช่างทำงามงามทั้งสามพวง | แล้วห่อหวงเก็บไว้ไม่ให้หาย | |
ชอบอารมณ์สมคิดจิตสบาย | จุกก็คลายหายฉิบไปทันที | |
หม่อมเป็ดถามยายมาว่าพวงฟัน | นี่ขยันสุดใจใครให้พี่ | |
ยายมาอวดซ้ำเขาทำดี | ซื้อมาที่จีนยูทั้งสามพวง | |
หม่อมเป็ดตรองความตามเรื่องฝัน | นิมิตรดีขยันเป็นใหญ่หลวง | |
ว่าเขาให้กินทุเรียนกินหลายยวง | เป็นลาภใหญ่พวงฟันกะลา ฯ |
- ↑ ดู อธิบายเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ หน้า ๕๖
- ↑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว