การตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม

การตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมาย
ในกรุงสยาม
มหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ฯ
(เชิญ ปริชญานนท์)
พิมพ์ในงานยืนชิงช้า
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒
โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร

คำนำ

เนื่องแต่ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ฯ (เชิญ ปริชญานนท์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุตติธรรม เป็นพระยายืนชิงช้าในปีนี้ พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ฯ ได้ขออนุญาตต่อข้าพเจ้าพิมพ์หนังสือว่าด้วยการตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายตามเค้าความในหัวข้อซึ่งมองซิเออร์ อาร์. กียอง ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ได้ทำขึ้น แต่ดัดแปลงแก้ไขและเพิ่มเติมบ้าง เพื่อแจกแก่ผู้ที่มาช่วยงานเป็นมิตรพลี ข้าพเจ้าก็ยินดีอนุญาตให้พิมพ์ได้ตามประสงค์ ก่อนส่งไปลงพิมพ์ ข้าพเจ้าได้อ่านตรวจดูตลอด รู้สึกว่า หนังสือเล่มนี้ได้เรียบเรียงโดยรีบเร่งเพื่อให้ทันงาน จะว่าบริบูรณ์ทีเดียวก็ไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ดี เห็นว่า คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านซึ่งใฝ่ใจในวิชชากฎหมายบ้างตามส่วน หวังว่า บรรดาผู้ที่ได้รับหนังสือนี้ไปคงจะพอใจ

กระทรวงยุตติธรรม
วันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒

การตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมาย
ในกรุงสยาม

การตรวจชำระและร่างกฎหมายเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศสยามที่ได้จัดทำขึ้นในระหว่าง ๕๐ ปีที่แล้วมา ด้วยความประสงค์จะยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศบ้านเมืองตามสมควรแก่ปรัตยุบันสมัย

เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า ประเทศทั้งหลายโดยมากในสมัยปรัตยุบันมุ่งจะรวบรวมหลักกฎหมายทั้งในส่วนแพ่งและอาชญาบรรดาที่กระจัดกระจายอยู่ในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ก็ดี หรือที่ไม่มีตัวบทเป็นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่รับรองใช้กันมาในโรงศาลก็ดี เหล่านี้ ให้อยู่ตามหมวดหมู่และรวมเข้าเป็นประมวลกฎหมาย เมื่อต้นศตวรรษที่ ๑๙ ในแผ่นดินพระเจ้านะโปเลียน ประเทศฝรั่งเศสได้รวบรวมจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรก[1] ซึ่งภายหลังเรียกว่า “โค๊ดนะโปเลียน” ต่อมามิช้า ประเทศในยุโรปและอเมริกาโดยมากพากันรวบรวมบทกฎหมายในประเทศนั้น ๆ เข้าไว้เป็นประมวลกฎหมายตาม ๆ กัน จนถึงเวลานี้ ประเทศทั้งหลายได้มีประมวลกฎหมายใช้อยู่เป็นอันมากแล้วเมื่อปลายศตวรรษก่อนและในต้นศตวรรษนี้ การทำประมวลกฎหมายใช่จะนิยมอยู่แต่ในยุโรปและอเมริกาก็หามิได้ แม้ในบูรพาทิศ มีบระเทศญี่ปุ่นเปนอาทิ ก็ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นด้วย ในประเทศเปอร์เซีย การทำประมวลกฎหมายได้เริ่มลงมือมาแต่ ค.ศ. ๑๙๑๑ (พ.ศ. ๒๔๕๓) และประเทศจีนก็ตกลงทำประมวลกฎหมายขึ้นดุจกัน ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาชญาแล้วแต่ พ.ศ. ๒๔๕๕ (ค.ศ. ๑๙๑๒) และเวลานี้กำลังจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งอยู่ ส่วนประเทศอินเดียที่ขึ้นแก่อังกฤษ ลังกา และเขมร รัฐบาลก็ต่างประกาศใช้ประมวลกฎหมายซึ่งได้จัดทำขึ้นให้เหมาะแก่ความต้องการของประเทศนั้น ๆ

ส่วนประเทศสยาม แม้จะได้เริ่มคิดวางโครงการที่จะตรวจชำระบทกฎหมายทั้งลักษณะแพ่งและอาชญาเพื่อจัดทำขึ้นเป็นประมวลกฎหมายเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ดี แต่รัฐบาลก็ได้ลงมือเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบการศาลยุตติธรรมมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ตั้งกระทรวงยุตติธรรมขึ้น จัดวางระเบียบศาลใหม่ หาผู้รู้กฎหมายชาวเบลเยียม อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายประจำศาลต่าง ๆ กระทรวงยุตติธรรมจึ่งยิ่งมีหน้าที่สำคัญขึ้นทุกที จนในเวลานี้ การร่างกฎหมายและการสอนวิชชากฎหมายก็มารวมอยู่ในกระทรวงยุตติธรรมด้วย ได้มีพระราชกำหนดกฎหมายออกหลายฉะบับที่ดัดแปลงแก้ไขวิธีการของศาลยุตติธรรมให้ดีขึ้น และที่จัดการศาลยุตติธรรมให้เจริญขึ้นเป็นลำดับมาดั่งนี้ นับว่า เป็นกิจการอันสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ

เมื่อการศาลยุตติธรรมได้เจริญขึ้นแล้ว เป็นธรรมดาที่ปัญหาในเรื่องคิดจะชำระสะสางกฎหมายย่อมเกิดขึ้นด้วยในขณะเดียวกัน แม้จะมีบทกฎหมายอยู่เป็นอันมากก็ดี บางฉะบับก็ล่วงพ้นสมัย ไม่เหมาะแก่ความต้องการในปรัตยุบัน การที่บทกฎหมายเหล่านี้ยังแยกย้ายกระจัดกระจายอยู่ในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ไม่ต่อเนื่องกัน เป็นเหตุในเกิดความคิดที่จะชำระรวบรวมบทกฎหมายเหล่านั้นเข้าไว้เป็นหมวดหมู่ และทั้งเพิ่มเติมบทกฎหมายใหม่เข้าอีกด้วย เพื่อที่จะให้ได้ผลตามที่มุ่งหมาย ไม่มีทางใดดีไปกว่าที่จะทำเป็นประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ และการที่คิดจะทำประมวลกฎหมายขึ้นนี้ ถ้าว่าไปแล้ว จะผิดแผกจากแบบแผนประเพณีที่มีมาแต่โบราณก็หามิได้ เพราะมีแบบอย่างที่อาจอ้างได้ ดั่งเช่นพระบรมกษัตริย์แต่ป่างก่อนได้เคยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชกำหนดบทพระอัยยการซึ่งตั้งมาล่วงเวลาช้านานจัดเป็นหมวดหมู่มาแล้วเป็นครั้งคราว การตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมายดั่งว่านี้ ครั้งหลังที่สุดได้มีเมื่อปีจุลศักราช ๑๑๖๖[2] (พ.ศ. ๒๓๔๗) ในรัชชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมบรมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ต่อนั้นมา ก็ได้ออกประกาศพระราชบัญญัติใช้เป็นกฎหมายมากหลาย ยังความสะดวกแก่การชำระสะสางบทกฎหมายในภายหน้า

การออกประมวลกฎหมายในประเทศสยามนั้น เพื่อจะให้ได้ผลอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

ประการที่  เพื่อรวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะเดียวกันซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายต่าง ๆ เข้าไว้เป็นหมวดหมู่ในประมวลกฎหมายอันเดียวกัน เช่น กฎหมายอาชญามีบทกระจัดกระจายอยู่ในลักษณะโจร ลักษณะอาชญาหลวง ลักษณะวิวาท ลักษณะอาชญาราษฎร์ ฯลฯ และในพระราชบัญญัติที่ออกใหม่ในชั้นหลัง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยอั้งยี่ ร.ศ. ๑๑๖ พระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี ร.ศ. ๑๑๘ พระราชบัญญัติลักษณะหมิ่นประมาท ร.ศ. ๑๑๘ ประกาศลักษณะฉ้อ ร.ศ. ๑๑๙ เป็นต้น ซึ่งบทกฎหมายว่าด้วยลักษณะอาชญาอย่างเดียวกระจัดกระจายอยู่หลายแห่งดั่งนี้ย่อมทำให้เป็นการยากลำบากแก่ศาลในอันจะค้นคว้าหยิบยกมาพิจารณาพิพากษาคดี เพราะฉะนั้น จำเป็นที่จะต้องรวบรวมขึ้นเป็นประมวล คือ กฎหมายลักษณะอาชญาดั่งที่มีอยู่ในเวลานี้

ประการที่  เพื่อเปลี่ยนแปลงบทกฎหมายเก่าอันล่วงพ้นสมัยให้ต้องตามความนิยมในปรัตยุบัน เช่น วิธีพิจารณาในโบราณสมัยให้ช่องแก่คู่ความที่จะยื่นอุทธรณ์ฎีกาได้หลายชั้น โดยหวังที่จะให้ความคุ้มครองแก่คู่ความ แต่กลับได้ผลตรงกันข้าม คือ คู่ความถือเป็นโอกาสอาศัยวิธีพิจารณานั่นเองประวิงความไม่สิ้นสุด ในความผิดบางอย่าง กฎหมายเก่าวางบทกำหนดโทษโดยระบุเกณฑ์ไว้อย่างละเอียด เช่น คดีทำร้ายร่างกาย ให้พิเคราะห์ถึงอาวุธที่ใช้และลักษณะบาดแผลที่ถูกทำร้าย ในสมัยก่อน ผู้ร่างกฎหมายในประเทศสยามหรือในประเทศอื่นก็ดุจกัน มักจะวางเกณฑ์ในการออกกฎหมายบังคับฉะเพาะเรื่องหนึ่ง ๆ แทนที่จะวางหลักเป็นบททั่วไปเพื่อให้โอกาสแก่ผู้พิพากษาตุลาการใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีตามเหตุผลเป็นเรื่อง ๆ

ประการที่  เพื่อนำหลักกฎหมายอันแพร่หลายซึ่งไม่มีอยู่ในกฎหมายเก่ามาใช้ ยังความรู้ในวิชชากฎหมายให้เจริญยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า กฎหมายแพ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวแก่ลักษณะบุทคล เช่น การสมรส การอย่า และการรับมฤดก ที่เกี่ยวแก่ลักษณะสัญญา เช่น กู้หนี้ ซื้อขาย ให้ยืม เป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ไม่มีบททั่วไปซึ่งบัญญัติถึงการก่อตั้งความเป็นอยู่และความระงับสิ้นไปแห่งสิทธิ์และหน้าที่ตามกฎหมาย เหตุดั่งนี้ เมื่อจะวินิจฉัยถึงข้อนั้น ๆ จำต้องพิจารณาค้นคว้าหาจากบทฉะเพาะเรื่อง ๆ อนึ่ง กฎหมายลักษณะทรัพย์สินก็จำเป็นต้องมีขึ้นไว้ให้ชัดเจน บทกฎหมายว่าด้วยพาณิชย์ก็ควรนำมาบัญญัติขึ้นไว้ เพราะการค้าขายระหว่างกรุงสยามและประเทศใกล้เคียงเจริญขึ้นทุกวัน เช่น ลักษณะหุ้นส่วนและบริษัท ตั๋วเงิน เก็บของในคลังสินค้า ฯลฯ ส่วนในกฎหมายอาชญา ก็จำต้องนำเอาบทสำหรับคุ้มครองตามที่มีในประมวลกฎหมายใหม่ ๆ มาบัญญัติไว้ เพื่อรักษาประโยชน์ทั้งของประชาชนและของบุทคลผู้ต้องหา

รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญแห่งกิจการที่กล่าวนี้นานมาแล้ว และเห็นด้วยว่า จะทำไปให้สำเร็จได้ก็โดยชำระสะสางบทกฎหมายทั้งสิ้นที่ใช้อยู่ในพระราชอาณาจักร์ให้เป็นประมวล อีกประการหนึ่ง รัฐบาลปรารถนาจะให้ประเทศต่าง ๆ ซึ่งได้สิทธิพิเศษไว้โดยสัญญาทางพระราชไมตรียอมสละสิทธินั้นและเลิกอำนาจศาลกงสุล การที่จะปลดเปลื้องให้พ้นจากสิทธิพิเศษของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ว่าในประเทศใด ย่อมเป็นสิ่งต้องด้วยความมุ่งหมายอันควรในทางรัฐประศาสโนบายทั้งสิ้น เพราะต่างก็ประสงค์จะใช้อำนาจของตนปกครองโดยสมบูรณ์เด็ดขาด การจัดระเบียบศาลยุตติธรรมให้ดีขึ้น และกิจการดำเนิรมาโดยสม่ำเสมอเรียบร้อย กับทั้งมีกฎหมายอันทันสมัย ประกอบด้วยหลักอันเที่ยงธรรม การจัดชำระสะสางรวบรวมบทกฎหมายเหล่านั้นเข้าเป็นประมวลให้ลงระเบียบ ย่อมเป็นองคพะยานให้เห็นความเจริญของประเทศสยาม ทั้งนี้ เป็นเหตุอย่างดีที่จะยกขึ้นแสดงต่อประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นได้

วิธีดำเนิรการตามนโยบายนี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเล็งเห็นการข้างหน้าได้ไกลและเป็นผลสำเร็จ อาศัยการงานทางศาลยุตติธรรมและทางการร่างกฎหมายได้เจริญมาเห็นประจักษ์เป็นปัจจัยให้ประเทศสยามได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศในชั้นหลังนี้ได้ ตามหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำขึ้นใหม่ ประเทศต่าง ๆ ได้ยอมสละสิทธิพิเศษซึ่งมีอยู่แต่ก่อนนั้นให้เกือบหมด และโอนอำนาจการชำระความในศาลกงสุลมาให้ศาลฝ่ายสยามชำระ ส่วนสิทธิที่ยังเหลืออยู่บ้างนั้น เมื่อประเทศสยามได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบบริบูรณ์แล้ว ในไม่ช้าก็จะได้เลิกถอนไป ทั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า การชำระประมวลกฎหมายเป็นของสำคัญเพียงไร นอกจากเพื่อความเจริญและอารยธรรมของประเทศแล้ว ในส่วนความสัมพันธ์ที่มีต่อนานาประเทศ ยังเป็นเหตุส่งเสริมฐานะของประเทศสยามให้ยิ่งขึ้น อันเป็นความประสงค์ข้อหนึ่งในทางรัฐประศาสโนบาย

บัดนี้ จะได้กล่าวตำนานการชำระประมวลกฎหมายในประเทศสยามและการร่างกฎหมายโดยย่อ ต่อไปนี้

จำเดิมแต่ได้ชำระพระราชกำหนดกฎหมายในครั้งสุดท้ายเมื่อปีจุลศักราช ๑๑๖๖ (พ.ศ. ๒๓๔๗) แล้วเป็นต้นมา ยังหาได้ตรวจชำระบทกฎหมายให้เรียบร้อยอีกไม่ เป็นธรรมดาอยู่เองที่บทกฎหมายอันพ้นความต้องการในสมัยและที่ขัดกันเองจะมีอยู่มาก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึ่งทรงพระราชดำริเห็นควรให้จัดชำระสะสางเสียใหม่ โดยจัดหาเนติบัณฑิตผู้ทรงไว้ซึ่งคุณวุฒิในทางกฎหมายต่างประเทศ และเลือกสรรผู้ชำนาญกฎหมายผ่ายไทย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็นกรรมการคณะหนึ่ง[3] เมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) มีหน้าที่ตรวจชำระพระราชกำหนดบทกฎหมายเก่าใหม่ มีพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ภายหลังเลือนเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เสนาบดี กระทรวงยุตติธรรม เป็นประชาน ตามโครงการนี้จำกัดเพียงจัดทำกฎหมายลักษณะอาชญาเรียบเรียงเป็นร่างขึ้นต้นขึ้นไว้ ลุปีรัตนโกสินทรศก ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการขึ้นอีกคณะหนึ่ง[4] ตรวจชำระแก้ไขจนสำเร็จลงรูปเป็นกฎหมายส่วนลักษณะอาชญาแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการเสนาบดี[5] มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (ภายหลังเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เป็นประธาน และกรรมการสำหรับตรวจเทียบเคียงถ้อยคำอีกคณะหนึ่ง[6] เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาร่างสำเร็จได้ดั่งพระราชประสงค์ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงตรวจแก้ไขด้วยพระองค์เองอีกชั้นหนึ่ง และได้ทรงปรึกษาในที่ประชุมเสนาบดีเห็นชอบโดยพระราชบริหารแล้ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราไว้เป็นพระราชบัญญัติแต่ณวันที่ ๑๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑)

ในคราวเดียวกันนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการขึ้นอีกคณะหนึ่ง[7] เพื่อจัดร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งและพระธรรมนูญศาลยุติธรรมขึ้นใช้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีกฎหมายที่สำเร็จบริบูรณ์ออกใช้แทน การร่างกฎหมายลักษณะนี้ ทำให้สามารถแน่ใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงชะนิดนี้จะยังประโยชน์เพียงใด การที่ตัวบทกฎหมายที่ยังบกพร่องนั้นเป็นเหตุให้เกิดมีความเห็นแก่งแย่งขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและตุลาการแทบทุกประเทศ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองด้วยกันเอง พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักแน่พระราชหฤทัยดั่งนี้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการชำระ ประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีชาวฝรั่งเศสเป็นกรรมการ กรรมการคณะนี้มีหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลวิธีพิจารณาความอาชญา ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุตติธรรม

กรรมการชำระประมวญกฎหมายได้ทำการเป็นลำดับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙ กรรมการชำระประมวลกฎหมายชาวต่างประเทศ[8] ได้จัดรวบรวมพระราชกำหนดกฎหมาย เรียบเรียงเป็นร่างขึ้น แล้วจึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการตรวจแก้ขึ้นอีกคณะหนึ่ง[9] มีเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร (ภายหลังเลื่อนเป็นพระวรวงศเธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร) และต่อมาพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) (ภายหลังเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธรฯ) เป็นประธาน เพื่อปรึกษาหารือแก้ไขร่างนั้น

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ในรัชชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเพื่อให้การชำระสะสางบทกฎหมายเจริญยิ่งขึ้น จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบใหม่ เพิ่มกรรมการไทย[10] เข้าในคณะกรรมการชำระประมวลกฎหมาย เพื่อได้ร่วมมือตรวจพิจารณาร่างซึ่งกรรมการชาวต่างประเทศได้ทำขึ้น และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกา ประมุขแห่งตุลาการ เป็นประธานกรรมการ (พ.ศ. ๒๔๕๙–๒๔๖๒)

ใน พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชาฯ เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม เป็นนายกกรรมการชำระประมวลกฎหมาย และให้พระมานวราชเสวี[11] เป็นเลขานุการประจำกองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการ[12] กองหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจศัพท์ภาษาสยามเพื่อนำมาใช้ในการร่างกฎหมาย การที่กรรมการไทยและชาวต่างประเทศได้ร่วมมือกันทำงานทั้งนี้ เป็นเหตุให้การชำระประมวล กฎหมายดำเนิรก้าวหน้าและเจริญขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อกรรมการได้ตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ และ ๒ แล้วเสร็จ จึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการตรวจแก้ขึ้นคณะหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕ คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ (ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงสวัสดิ์วัดนวิศิษฎ (ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ) พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ภายหลังเลื่อนเป็นเจ้าพระยามหิธรฯ)

กรรมการคณะนี้ได้ลงมือทำการตรวจแก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑–๒ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ประทับเป็นประธาน (พ.ศ. ๒๔๖๕–๒๔๖๖) ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอฯ พระองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นประธานต่อมา ในระหว่างที่กรรมการตรวจแก้พิจารณาแก้ไขนั้น กรรมการชำระประมวลกฎหมายฝ่ายไทยมีเวรผลัดเปลี่ยนกันไปประจำอยู่ด้วยทุกคราว เพื่อทำงานติดต่อระหว่างกรรมการตรวจแก้กับกรรมการชำระประมวลกฎหมาย เมื่อมีข้อสงสัยหรือติดขัดประการใด ให้กรรมการผู้ที่ไปทำงานติดต่อย้อนนำมาปรึกษาหารือกับคณะกรรมการ เมื่อกรรมการ ชำระประมวลกฎหมายปรึกษาตกลงเป็นประการใด ก็นำเสนอต่อกรรมการตรวจแก้เป็นเรื่อง ๆ ไป กรรมการตรวจแก้ได้พิจารณาแก้ไขร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑–๒ แล้วเสร็จ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อณวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๖

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการขึ้นใหม่ในเรื่องร่างกฎหมาย โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นสู่ฐานะกรมชั้นอธิบดี เรียกว่า กรมร่างกฎหมาย สังกัดขึ้นในกระทรวงยุตติธรรม การจัดตั้งกรมขึ้นนี้เป็นสิ่งพึงปรารถนา เพราะจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่สำหรับประเทศมากขึ้นเพื่อให้สมกับความต้องการในปรัตยุบัน ความเจริญในการค้าและความสัมพันธ์กับนานาประเทศ

กรมร่างกฎหมายที่ตั้งขึ้นใหม่นี้มีหน้าที่ไม่ฉะเพาะรวบรวมชำระประมวลกฎหมายแต่อย่างเดียว เช่นกับกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายในชั้นเดิมมีหน้าที่ตรวจพิจารณาบทกฎหมายพระราชบัญญัติ กฎเสนาบดี ซึ่งจะได้ออกต่อไปในภายหน้าด้วย ตามกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีใจความว่า เพื่อให้ถูกต้องด้วยวิธีเรียบเรียง บรรดาพระราชบัญญัติหรือกฎเสนาบดีซึ่งเจ้ากระทรวงทบวงการจะเรียบเรียงขึ้นนั้น ให้ส่งยังกรมร่างกฎหมายเพื่อตรวจแก้หรือยกร่างขึ้นใหม่ให้เป็นการแน่นอนว่า ถูกต้องด้วยหลักทางการและเป็นการสม่ำเสมอ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อมาในรัชชกาลปัจจุบัน ได้มีกระ แสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ความว่า ถ้ากระทรวงทบวงการใดประสงค์จะคิดการขึ้นใหม่ หรือเป็นการเปลี่ยนรัฐประศาสโนบายเดิมแล้ว ให้ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นเสียก่อนชั้นหนึ่ง เพื่อปรึกษาในเสนาบดีสภาหรืออภิรัฐมนตรีสภา เมื่อความเห็นนั้นได้รับอนุมัติแล้ว จึ่งคิดร่างกฎหมายโดยละเอียดต่อไป ส่วนที่จะออกกฎหมายหรือประกาศอื่น ๆ นั้น เมื่อเจ้ากระทรวงได้ตกลงในเรื่องโครงการและข้อสำคัญแล้ว ควรปรึกษาหารือติดต่อกับเจ้ากระทรวงทบวงการอื่นที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นเสียก่อน เมื่อตกลงเป็นเด็ดขาดอย่างใดแล้ว จึ่งค่อยส่งเรื่องมายังกรมร่างกฎหมาย เพื่อร่างขึ้นเป็นกฎหมาย

ในกรมร่างกฎหมาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรมเป็นนายกกรรมการโดยตำแหน่ง[13] กับมีกรรมการ[14] ทั้งไทยและชาวต่างประเทศ กรรมการได้ประชุมปรึกษากันแทบทุกวันเพื่อตรวจชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ต่อไป เมื่อตรวจชำระเสรจ็แล้ว จึ่งนำขึ้นเสนอกรรมการตรวจแก้ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นประธาน เมื่อได้ตรวจแก้โดยวิธีเดียวกับบรรพ ๑ และ ๒ ดั่งกล่าวมาข้างต้นจนเป็นผลสำเร็จแล้ว จึ่งได้นำความขึ้นกราบบังคม ทูลพระกรุณา แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศบรรพ ๓ แต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗

ในปลาย พ.ศ. ๒๔๖๗ การงานในกรมร่างกฎหมายได้ทวีขึ้นเป็นอันมาก และการชำระประมวลกฎหมายแพ่งก็กำลังดำเนิรอยู่โดยเร่งรัดที่จะให้สำเร็จโดยเร็ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาจินดาภิรมย์ฯ กรรมการศาลฎีกามาประจำทางกรมร่างกฎหมาย[15] แต่คงให้เป็นกรรมการศาลฎีกาอยู่ตามเดิม เมื่อมีคดีจะต้องปรึกษาหารือ ก็ให้ไปประชุมปรึกษาความฎีกาเปนครั้งคราว อนึ่ง เนื่องจากที่ได้ออกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑–๒ และ ๓ แล้ว มีความเห็นแนะนำมากหลายเพื่อให้ประมวลกฎหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเมื่อได้พิจารณา โดยถ่องแท้แล้ว เห็นเป็นการสมควรตรวจชำระใหม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมร่างกฎหมายตรวจชำระแก้ไขใหม่ การแก้ไขทางกรมร่างกฎหมายในตอนหลังนี้ อยู่ในความเป็นประธานของพระยาจินดาภรมย์ฯ เมื่อได้ทำสำเร็จแล้ว จึ่งเสนอต่อกรรมการตรวจแก่เพื่อดำเนิรการต่อไป ครั้นกรรมการตรวจแก้ได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่งแล้ว ก็ไดนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายสืบมาจนทุกวันนี้

ครั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงพระราชดำริว่า กรรมการตรวจแก้ได้ทำการมาด้วยความเหนื่อยยากเป็นงานแรมปี เหตุว่า ต้องแก้ไขถ้อยคำสำนวนในร่างคำแปลเดิมของกรมร่างกฎหมาย ทั้งได้บัญญัติคำที่ใช้เป็นคำเทฆนิคขึ้นก็มาก จนเป็นแบบอย่างได้อาศัยใช้มาจนบัดนี้ นับว่า ได้วางรูปการในเบื้องต้นไว้เสร็จ ไม่จำต้องตั้งไว้เป็นนิรันดร เพราะประมวลกฎหมายภาคสำคัญก็ได้ออกประกาศแล้ว จึ่งให้ยกเลิกเสีย

เมื่อได้ออกประกาศประมวลกฎหมายแพ่งแลพาณิชย บรรพ ๓ ซึ่งได้ตรวจชำระใหม่แล้ว กรรมการกรมร่างกฎหมายก็ได้เริ่มตรวจพิจารณาชำระบรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สินต่อมา

ในการตรวจชำระและร่างกฎหมาย กรรมการได้พยายามที่จะให้ได้ผลอย่างน้อย ๓ ประการดังพรรณนามาแล้วในตอนต้น เหตุฉนั้น ก่อนยกร่างขึ้น กรรมการได้ศึกษาหลักกฎหมายไทยในส่วนที่เป็นตัวบท และที่ปรากฏจากคำพิพากษาของศาล เทียบเคียงกับหลักกฎหมายต่างประเทศ กฎหมายฝรั่งเศส อังกฤษ หลักกฎหมายใหม่ในประมวลกฎหมายสวิสส์และญี่ปุ่น ทั้งข้อบัญญัติในประมวลกฎหมายเยอร์มัน อิตาลี เนเดอร์แลนด์ อเมริกา ฯลฯ เหล่านี้ก็ได้นำมาพิจารณาประกอบด้วย เลือกสรรเอาแต่ที่เห็นว่า จะใช้การได้สะดวกแลเหมาะกับความต้องการของประเทศ ครั้นได้ยกร่างขึ้นสำเร็จเป็นรูป ก็ตีพิมพ์ร่างนั้นแจกแก่กรรมการไปศึกษาทั่วกันก่อน ภายหลังได้นัดประชุมตรวจพิจารณาปรึกษาร่างทบทวนอีกหลายหน จนเป็นที่เรียบรอยแล้ว จึงจะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย


  1. ค.ศ. ๑๘๐๔ (พ.ศ. ๒๓๔๗)
  2. ผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรวจชำระพระราชกำหนดกฎหมายในครั้งนั้น คือ
    อาลักษณ์ ขุนสุนทรโวหาร ผู้ว่าที่พระอาลักษณ์
    ขุนสารประเสริฐ
    ขุนวิเชียรอักษร
    ขุนวิจิตรอักษร
    ลูกขุน ขุนหลวงพระไกรสี
    พระราชพินิจไจยราชปลัด
    หลวงอัถยา
    ราชบัณฑิต พระมหาวิชาธรรม
    ขุนศรีวรโวหาร
    นายทิม
    นายด่อน เปรียญ
    เมื่อชำระแล้ว อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกขึ้นสามฉะบับ ปิดตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ บัวแก้ว ทุกเล่มเป็นสำคัญ
  3. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม
    พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เมื่อเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง
    เจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง ยัคแมงส์) ที่ปรึกษาราชการ
    มองซิเออร์ ริชาร์ด ยัคส์ เกอร์กแปตริก ที่ปรึกษากฎหมาย
    หมอโตกิจิ มาเซา (ภายหลังเป็นพระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลคุณ) เมื่อเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาราชการ
    มองซิเออร์ คอร์เนย์ ช๎เล็สเซอร์
  4. มองซิเออร์ ยอร์ชส์ ปาดูซ์ ในตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย
    มิสเตอร์ วิลเลียม แอลเฟรด คุณะ ติเลกี แทนเจ้ากรมอัยยการ (ภายหลังเป็นพระยาอรรถการประสิทธิ์)
    พระอัตถการประสิทธิ์ (ปลื้ม สุจริตกุล) (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีฯ)
    หลวงสกลสัตยาทร (ทองบุ๋น บุญยมานพ) (ภายหลังเป็นพระยาสัตยพรตสุนันท์ฯ)
  5. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ (ภายหลังเป็นพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์)
    พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศโรประการ (ภายหลังเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาเทวะวงศ วโรปการ)
    พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์
  6. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ กรรมการศาลฎีกา เป็นประธาน
    พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) กรรมการศาลฎีกา
    พระบริรักษ์จัตุรงค์ (พุ่ม บุนนาค) กระทรวงการต่างประเทศ (ภายหลังเป็นพระยาไมตรีวิรัชกฤต)
  7. พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุตติธรรม
    พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนศิริธัชสังกาศ กรรมการศาลฎีกา เป็นประธาน
    พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงยุตติธรรม (ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหิธรฯ)
    พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) กรรมการศาลฎีกา
    พระยาบริรักษ์จริยาวัตร์ (ทองดี ธรรมศักด) ข้าหลวงพิเศษศาลยุตติธรรม (ภายหลังเป็นพระยาธรรมสารเวทย์ฯ)
    หลวงศรีสังข์กร (ตาด จารุรัตน์) ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ (ภายหลังเป็นพระยาศรีสังกร)
    พระเมธินฤปกร (ดั่น บุนนาค) อธิบดีศาลแพ่ง (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาพิชัยญาติฯ)
    หลวงนรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) อธิบดีศาลพระราชอาชญา (ภายหลังเป็นพระยานรเนติบัญชากิจ)
    ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม บุนนาค) อธิบดีศาลคดีต่างประเทศ
    พระยางำเมือง (จุ้ย สุวรรณทัต) อธิบดีศาลโบริสภา (ภายหลังเป็นพระยาธรรมศาสตร์นาถประณัย)
    มิสเตอร์ เย. สติวอัต แบล๊ก ที่ปรึกษากระทรวงยุตติธรรม
    มิสเตอร์ วิลเลียม แอลเฟรต คุณะ ติเลกี แทนเจ้ากรมอัยยการ
    ขุนโภชากร ทนายความ
  8. มองซิเออร์ ยี. ปาดูซ์ (พ.ศ. ๒๔๕๐๒๔๕๖)
    มองซิเออร์ มองชาวิลล์ (พ.ศ. ๒๔๕๑–๒๔๕๔)
    มองซิเออร์ อาร์. กียอง (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๑)
    มองซิเออร์ ริวิแอร์ (พ.ศ. ๒๔๕๐–๒๔๕๓)
    มองซิเออร์ เซ็คนิตส์ (พ.ศ. ๒๔๕๕–๒๕๕๘)
    มองซิเออร์ เดอ ลาโฟคาร์ด (พ.ศ. ๒๔๕๖–๒๔๖๒)
    มองซิเออร์ เดเลสเต๎ร (พ.ศ. ๒๔๕๗–๒๔๕๙)
    มองซิเออร์ ชาลส์ เลเว็ก (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙) แต่ก่อนเป็นเลขานุการกรรมการชำระประมวลกฎหมาย (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๙)
    มองซิเออร์ เรมี เดอ ปลังเตอโรส (ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๓)
    มองซิเออร์ อาร์. กาโซ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๕)
  9. พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ (ภายหลังเลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ)
    พระยากัลยณไมตรี (เย็นส์ ไอ. เว็สเต็นการ์ด) ที่ ปรึกษาราชการ
    มิสเตอร์ สกินเนอร์ เตอร์เนอร์ ที่ปรึกษากระทรวงยุตติธรรม พระยามหิธรฯ (หมอโตกิจิ มาเซา)
    พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรต คุณะดิลก)
    พระยาพิเชตพิเศษพิสัยฯ (ปลิ้ม สุจริตกุล) (ภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีฯ)
    หลวงสกลสัตยาทร (ทองบุ๋น บุณยมานพ) เคยเป็นเลขานุการ (พ.ศ. ๒๔๕๑–๒๔๕๙)
  10. พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร)
    พระจินดาภิรมย์ฯ (จิตร ณสงขลา) (ภายหลังเป็นพระยาในนามเดิม)
    พระเทพวิทูรฯ (บุญช่วย วณิกกุล) (ภายหลังเป็นพระยาในนามเดิม) เคยเป็นกรรมการประจำกองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย (พ.ศ. ๒๔๕๙–๒๔๖๒)
    มองซิเออร์ อาร์. กียอง (หัวหน้ากรรมการร่างประมวลกฎหมาย)
    มองซิเออร์ เดอ ลาโฟคาร์ด
    มองซิเออร์ ชาลส์ เลเว็ก
    พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ผู้แปล
  11. พระมานวราชเสวี (ปลอด ณสงขลา) ภายหลังเป็นพระยาในนามเดิม ต่อมาในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการแปลประมวลกฎหมาย
  12. พระราชวรวงศเธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งภายหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการตรวจสอบคำแปลเพิ่มขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง
    พระยากฤติกานุกรณกิจ (ดั่น บุนนาค) ภายหลังเป็นพระยาพิชัยญาติฯ
    พระยาอรรถการยบดี (ชุ่ม อรรถจินดา)
    พระยาไมตรีวิรัชกฤต (พุ่ม บุนนาค)
    พระยาสัตยพรตสุนันท์ฯ (ทองบุ๋น บุณยมานพ)
  13. เจ้าพระยาอภัยราชาฯ (พ.ศ. ๒๔๖๖–๒๔๖๙)
    เจ้าพระยาพิชัยญาติฯ (พ.ศ. ๒๔๖๙–๒๔๗๑)
    พระยาจินดาภิรมย์ฯ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑)
  14. กรรมการไทย พระยานรเนติบัญชากรกิจ (ลัด เศรษฐบุตร) (จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒)
    พระยาจินดาภิรมย์ฯ (จิตร ณสงขลา)
    พระยาเทพวิทุรฯ (บุญช่วย วณิกกุล)
    พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณสงขลา) (เคยเป็นกรรมการประจำกรมร่างกฎหมายจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗)
    พระราชวรวงศเธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙)
    พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙)
    พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ฯ (วงษ์ ลัดพลี) (ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๒) เคยเป็นเลขานุการมาก่อน (พ.ศ. ๒๔๖๗–๒๔๖๙)
    พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) เป็นเลขานุการตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๔
    กรรมการชาวต่างประเทศ มองซิเออร์ อาร์. กียอง (ในตำแหน่งที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖)
    มองซิเออร์ ชาลส์ เลเว็ก
    มองซิเออร์ เรมี เดอ ปลังเตอโรส
    มองซิเออร์ อาร์. กาโซ
  15. เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๗ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกา และให้เป็นอุปนายกกรรมการกรมร่างกฎหมายอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

บรรณานุกรม แก้ไข

  • กระทรวงยุตติธรรม. (2472). การตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร. [มหาอำมาตย์ตรี พระยามโหสถศรีพิพัฒน์ฯ (เชิญ ปริชญานนท์) พิมพ์ในงานยืนชิงช้าเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2472].
 

งานนี้ ปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติแล้ว เพราะลิขสิทธิ์ได้หมดอายุตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งระบุว่า

ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดา
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
  2. ถ้ามีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์หมดอายุ
    1. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย หรือ
    2. เมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก ในกรณีที่ไม่เคยโฆษณางานนั้นเลยก่อนที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายจะถึงแก่ความตาย
ถ้ารู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์
  1. ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น
  2. แต่ถ้าได้โฆษณางานนั้นในระหว่าง 50 ปีข้างต้น ลิขสิทธิ์หมดอายุเมื่อพ้น 50 ปีนับแต่ได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรก