การปกครองแคว้นลาวและเขมรของฝรั่งเศส/ปัจฉิมภาค

ปัจฉิมภาค
เปรียบเทียบการปกครองอินโดจีนฝรั่งเศส
กับไทย

ปัจฉิมภาค
เปรียบเทียบการปกครองอินโดจีน
ฝรั่งเศสกับไทย

ก. ไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส

๑. ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนอินโดจีนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ไม่มีรัฐธรรมนูญ และปกครองตามแบบอัตตาธิปไตย (Autonomy)

๒. อำนาจอธิปไตยในประเทศไทยมาจากปวงชนชาวไทย อำนาจอธิปไตยในอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

๓. ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน อินโดจีนฝรั่งเศสเป็นสหภาพแห่งอาณานิคม ซึ่งคนพื้นเมืองแต่ละแคว้นต้องจำรวมอยู่ในสหภาพเดียวกันเพราะอำนาจของฝรั่งเศสผู้อยู่เหนือ

๔. ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ชาวไทยเป็นประมุข อินโดจีนฝรั่งเศสมีผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศสเป็นประมุข

๕. พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ผู้สำเร็จราชการอินโดจีนเป็นชาวฝรั่งเศส และนับถือคริสตสาสนา ซึ่งมิใช่เป็นสาสนาเดิมของประชาชนในอินโดจีน

๖. พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นจอมทัพไทย ในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการชาวฝรั่งเศสเป็นจอมทัพ

๗. ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยพลการหรือโดยคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศส

๘. ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี ในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการใช้อำนาจบริหารทางคณะบริหารรัฐการชาวฝรั่งเศส

๙. ในประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ในอินโดจีน ผู้สำเร็จราชการซึ่งเป็นประมุขของประเทศทำหน้าที่คล้ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในประเทศฝรั่งเศส

๑๐. ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพบริบูรณ์ภายในบังคับแห่งบทกฎหมาย ในการถือสาสนา ในร่างกาย เคหสถาน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ ในอินโดจีนฝรั่งเศส ไม่มีการประกาศเสรีภาพเช่นนี้ในกฎหมายใด ๆ

๑๑. ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งราษฎรชาวไทยเป็นผู้เลือกตั้งขึ้นมา อินโดจีนฝรั่งเศสไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและไม่มีสภานิติบัญญัติใด ๆ

๑๒. ประเทศไทยมีคณะรัฐมนตรีชาวไทย อินโดจีนมีคณะบริหารรัฐการเป็นชาวฝรั่งเศส

๑๓. ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร คือ ต่อปวงชนชาวไทย ในอินโดจีน คณะรัฐบาลรับผิดชอบต่อรัฐบาลฝรั่งเศส

๑๔. ในประเทศไทย ศาลยุตติธรรมเป็นศาลของไทย ในอินโดจีน มีศาลฝรั่งเศสสำหรับชาวฝรั่งเศส และศาลพื้นเมืองซึ่งควบคุมโดยชาวฝรั่งเศสสำหรับชาวพื้นเมือง

๑๕. ในประเทศไทย ชาวไทยทุกคนมีสิทธิรับราชการ ในอินโดจีน ชาวอินโดจีนไม่มีสิทธิครองตำแหน่งสูงไปกว่าเสมียนได้กี่ตำแหน่งนัก

๑๖. ในประเทศไทย รัฐบาลเก็บภาษีอากรตามกฎหมายเพื่อบำรุงประเทศ ในอินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสเก็บภาษีอากรหยุมหยิมเพื่อบำรุงกำลังอำนาจของฝรั่งเศสในประเทศ

ข. ไทยกับแคว้นลาว

๑. เรสิดังต์สุเปริเออร์แห่งแคว้นลาวมีฐานะคล้าย ๆ อุปราชประจำภาคของไทยในสมัยราชาธิปไตย แต่มีอำนาจมากกว่าอุปราชของไทย

๒. ในแคว้นลาว ไม่มีคณะกรรมการจังหวัดสำหรับบริการรัฐการรับผิดชอบร่วมกันดังเช่นในประเทศไทย

๓. การจัดการปกครองส่วนภูมิภาคของแคว้นลาวยังลักลั่น เช่น พงสาลีปกครองโดยฝ่ายทหาร ผิดกับของไทยซึ่งจัดระเบียบการปกครองเหมือนกันหมดทั่วประเทศ

๔. จเรการปกครองและการเมืองแห่งแคว้นลาวเป็นประธานศาลฎีกาพื้นเมือง เป็นการรวมอำนาจบริหารและตุลาการอย่างชัด ผิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ตามตำรารัฐศาสตร์ของ Montesquieu ในประเทศไทยไม่มีการรวมอำนาจบริหารกับตุลาการเช่นนี้

๕. ในแคว้นลาว เรสิดังต์เดอฟรังส์ประจำจังหวัดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์พื้นเมือง เป็นการผิดหลักแห่งการแบ่งแยกอำนาจเช่นเดียวกับในข้อ ๔ ในประเทศไทยไม่มีการรวมอำนาจบริหารกับตุลาการเช่นนี้

๖. เจ้าเมือง (นายอำเภอ) ในแคว้นลาว ซึ่งเป็นตำแหน่งมีอัตราเงินเดือนในงบประมาณแห่งรัฐ ได้รับการยกเว้นจากภาษีอากรบางอย่าง ซึ่งแตกต่างกับในประเทศไทย

๗. เจ้าเมือง (นายอำเภอ) ในแคว้นลาวมีอำนาจน้อย เช่น การจดทะเบียนบุริมสิทธิ์และทรัพยสิทธิ์ไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าเมือง ผิดกับของไทยซึ่งนายอำเภอมีอำนาจกว้างขวางกว่า เป็นการสะดวกและได้ประโยชน์มากกว่ากัน

๘. ในแคว้นลาว ฝรั่งเศสปล่อยปละละเลยการศึกษา ปล่อยให้ราษฎรโง่เขลา ในประเทศไทย รัฐบาลบำรุงการศึกษาเป็นอย่างดี

๙. ในแคว้นลาว พระพุทธสาสนาถูกปล่อยปละละเลย เพราะมิใช่เป็นสาสนาของชาวฝรั่งเศส ในประเทศไทย รัฐบาลบำรุงพระพุทธสาสนาเป็นอย่างดี เพราะเป็นสาสนาของชาติ

๑๐. ปรากฏว่า แคว้นลาวมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ เป็นการแสดงความบกพร่องในการบำรุงของฝรั่งเศส

ค. ไทยกับแคว้นเขมร

๑. ในแคว้นเขมร มีคณะบริหารรัฐการ ๒ คณะ คือ ฝรั่งเศสและเขมร เป็นการสิ้นเปลือง ผิดกับในประเทศไทยซึ่งมีรัฐบาลคณะเดียว

๒. ในแคว้นเขมร มีข้าหลวงประจำจังหวัด (เรสิดังต์เดอฟรังส์) ชาวฝรั่งเศส และมีข้าหลวงประจำจังหวัด (เจ้าฝ่ายเขตต์) ชาวพื้นเมือง แต่ไม่ให้อำนาจเสมอกัน ในประเทศไทย จังหวัดหนึ่ง ๆ มีข้าหลวงประจำจังหวัดชาวไทยคนเดียว

ในข้ออื่น ๆ ความแตกต่างระหว่างการปกครองของไทยกับแคว้นเขมรก็คล้าย ๆ กับระหว่างไทยกับแคว้นลาว.