คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๑๐
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น โดยให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชถือแทนตามคำร้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ (คตส.) และประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปเบิกความประกอบบันทึกข้อความเรื่องการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหากับพวกและรายงานการไต่สวนว่า ตามบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทชินคอร์ป ณ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ปรากฏ การถือหุ้นของผู้ถูกล่าวหากับพวกในราคาพาร์หุ้นละ ๑๐ บาท ดังนี้ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีมติให้เปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากหุ้นที่ยังมิได้จัดสรรเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน ๑ หุ้นเดิมต่อ ๑ หุ้นสามัญเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ ๑๕ บาท วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน เพื่อซื้อเช็กธนาคาร ๓ ฉบับ นำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๕๑๙,๗๕๐,๐๐๐ บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๔๙๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท และในนามผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น เป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๕ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ สัญญาจะจ่ายเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย หลังจากมีการเพิ่มทุนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๑๓,๖๑๘,๐๓๐ หุ้น วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๒ จ่ายบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด จำนวน ๓๓๐,๙๖๑,๒๒๐ บาท เพื่อชำระค่าหุ้น แล้วบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก (สุขุมวิท – พระรามสี่) ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำนวน ๓๒๗,๔๓๘,๗๘๐ บาท เป็นค่าขายหุ้นให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แล้วเช็คฉบับดังกล่าวได้นำฝากเข้าเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ รายงานต่อสำนักงาน กลต. ตามแบบ ๒๔๖ – ๒ ว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้ซื้อโดยตรงในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้ถูกกล่าวหาขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๓๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และสัญญาจะจ่ายเงิน ๔๒๔,๗๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ ๔ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ ๕ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ บริษัทชินคอร์ปยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนมูลค่าหุ้นที่ได้ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ ๑๐ บาท เป็นหุ้นละ ๑ บาท เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า คือ ผู้คัดค้านที่ ๒ ถือหุ้น จำนวน ๗๓๓,๙๕๐,๒๒๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๔๐๔,๔๓๐,๓๐๐ หุ้น บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๔ ถือหุ้น จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ รายงานต่อสำนักงาน กลต. ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ซื้อโดยตรงในราคาหุ้นละ ๑ บาท โดยขายเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ จำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ จำนวน ๗๓,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๒ คงเหลือหุ้นจำนวน ๒๙๓,๙๕๐,๒๒๐ หุ้น ผู้คั ดค้านที่ ๓ ถือหุ้นรวม จำนวน ๔๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริชได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่บริษัทแอมเพิลริชถืออยู่ทั้งหมด จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ หุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ถืออยู่ได้ขายให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด รวมจำนวน ๑,๔๘๗,๗๔๐,๑๒๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท โดยรายการเฉพาะหุ้นที่รับโอนมาจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ และที่รับโอนจากบริษัทแอมเพิลริชในชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๕๘,๕๕๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น รวมจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น เมื่อหักค่านายหน้าร้อยละ ๐.๒๕ และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ แล้ว คงเหลือค่าหุ้นสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ดังกล่าวได้รับเงินปันผลระหว่างปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ รวม ๖ ครั้ง เป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาคงถือหุ้นไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป รวมทั้งบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง เอกสารจาก สำนักงาน กลต. และรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ถึงปี ๒๕๔๙ ของบริษัทชินคอร์ป กับการชี้แจงแก่ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว สรุปความเห็นว่า เมื่อครั้งผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังถือหุ้นไว้ซึ่งหุ้นในบริษัทชินคอร์ป โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก
ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๕ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอรปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ จนหมดสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ โดยได้รับชำระเงินค่าหุ้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินครบถ้วนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ โดย ได้รับชำระค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ โดยผู้คัดค้านที่ ๓ สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ ๑ ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ปโดยได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินครบถ้วนแล้ว และผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า คตส.ไม่ยอมรับความมีจริงของเอกสารตามกฎหมาย แม้แต่เอกสารที่รายงานต่อสำนักงาน กลต.นั้น ปรากฏว่า การโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีการรายงานต่อสำนักงาน กลต. ในคดีนี้เป็นการรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๔๖ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลใดได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใดในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุกร้อยละ ๕ ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียนโอนหลักทรัพย์หรือไม่ และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหลักทรัพย์นั้นจะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้ง บุคคลนั้นต้องรายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละ ๕ ดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ กลต. ทุกครั้งที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ ...." มาตรา ๒๔๗ วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลใดเสนอซื้อหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นผลให้ตนได้มาหรือเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ..." และมาตรา ๒๔๗ วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า "การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ กลต.ประกาศกำหนด ในการนี้คณะกรรมการ กลต.จะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้" ประกอบกับเลขาธิการ กลต. ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ แจ้งข้อมูลต่อประธานอนุกรรมการตรวจสอบว่า "ในการพิจารณาหน้าที่ตามมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลั กทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์อันเป็นผลให้เกิดหน้าที่รายงานตามมาตรา ๒๔๖ และทำคำเสนอซื้อตามมาตรา ๒๔๗ นั้น เป็นการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในกิจการ ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นการให้เปล่าหรือการซื้อขายในราคาใด หากเป็นการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดก็จะมี หน้าที่หรือความรับผิด (กรณีฝ่าฝืน) ไม่แตกต่างกัน ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระราคาจึงไม่ใช่สาระสำคัญในแง่ของบทบัญญัติดังกล่าวตามกฎหมายหลักทรัพย์ สำนักงานจึงไม่ได้ตรวจสอบการชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้รายงานหรือผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" การรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ จึงไมใชหลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนที่รายงาน ดังนั้น ในปัญหาว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีพฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ตั้งแต่มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป การโอนหุ้นระหว่างกัน และการถือครองหุ้นตั้งแต่มีการโอนจนขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็กเป็นสำคัญ ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความว่า เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้ยกหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ ในโอกาสที่ผู้คัดค้านค้านที่ ๕ แต่งงานและครบรอบวันเกิด ๑ ปีของบุตรผู้คัดค้านที่ ๕ โดยทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์จากหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๑ ในบัญชีของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี หุ้นจำนวนนี้กับหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๕ มีอยู่เดิม คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม้ได้ชัดเจนว่าเป็นหุ้นที่ถือไว้แทนผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความรับว่า ในปี ๒๕๔๒ ซึ่งซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ปหุ้นละ ๑๕ บาท จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้นนั้น ผู้คัดค้านที่ ๕ กับคู่สมรสมีทรั พย์สินมูลค้ามากกว่า ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่าจะทำกำไรให้กลับใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ มาชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เพื่อนำมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้คัดค้านที่ ๕ พร้อมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๒,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ข้ออ้างที่ว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ ๑ มาซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ยกลับทำให้เป็นพิรุธ เพราะผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะใช้คำนำนามว่า "คุณหญิง" เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ที่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่า เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ซึ่งทำขึ้นเมื่อปลายปี ๒๕๔๓ เนื่องจากได้รับแจ้งจากนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมที่ระบุชื่อนางพจมาน ชินวัตร หายไป เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อ เพราะในทางไต่สวนปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินเนื่องจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปและหุ้นบริษัทอื่นอีกหลายฉบับ แต่กลับหายไปจนเกิดข้อพิรุธฉบับเดียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้น จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชในราคาพาร์ ๑๐ บาท โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระให้แก่บริษัทหลักทรั พย์แอสเซทพลัส จำกัด เพื่อทำรายการซื้อหุ้นให้บริษัทแอมเพิลริช เมื่อบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด ชำระค่าขายหุ้นซึ่งหักค่านายหน้าแล้วเป็นเงิน ๓๒๗,๔๓๘,๗๘๐ บาท ก็นำเงินดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของผู้คัคค้านที่ ๑ สำหรับการโอนหุ้นซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คั ดค้านที่ ๑ ถืออยู่ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ จำนวน ๓๒,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นเป็นบุตรคนเดียวที่บรรลุนิติภาวะแล้วในราคาพาร์ ๑๐ บาท จำนวน ๓๐,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งรับโอนหุ้นไว้รวม ๗๓,๓๙๕,๐๐๐ หุ้น ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อสำนักงาน กลต. เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๓ และรายงานแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ ว่า จำนวนหุ้นที่รับโอนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ ๒๔.๙๙ ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า หากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จะโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ มากกว่านี้ก็จะทำให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ ๒๕ ขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๔๗ บัญญัติให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และคณะกรรมการ กลต. จะกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ ๒ จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้ เชื่อว่าด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จึงต้องโอนหุ้นที่เหลืออีกจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ให้แก่บุคคลใกล้ชิดที่ตนไว้วางใจคือผู้คัดค้านที่ ๔ และที่ ๕ ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เมตตาขายหุ้น จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ในราคาพาร์ ๑๐ บาท เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ ๕ มีหุ้นรวมกับหุ้นที่มีอยู่เดิมแล้วเป็นจำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น แต่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความรับว่า ในปี ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านที่ ๕ และคู่สมรสมีทรัพย์สินอาจจะถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็มิได้ชำระค่าหุ้นในราคาพาร์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท สัญญาจะใชแงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่าชำระหนี้เงินยืมไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่วนผู้คัดค้านที่ ๔ เบิกความว่า ขอซื้อหุ้นจากผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น เพื่อเก็บไว้เป็นทุนในอนาคต โดยซื้อตามกำลังเงินที่มี อยู่ แต่ผู้คัดค้านที่ ๔ ก็มิได้ชำระเงินค่าหุ้นในราคาพาร์ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา คงออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เช่นเดียวกัน นอกจากหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน ๙,๔๔๕,๙๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท หุ้นบริษัทไทยคม จำนวน ๓,๗๑๓,๓๙๘ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท หุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น จำนวน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ๓ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๔,๖๒๑,๕๙๘,๘๔๐ บาท สัญญาจะใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ หลังจากที่บริษัทชินคอร์ปเปลี่ยนมูลค่าหุ้นเป็นพาร์ ๑ บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น ๑๐ เท่า และผู้คัดค้านที่ ๓ บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้ คัดค้านที่ ๒ ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาพาร์ ๑ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ โดยผู้คัดค้านที่ ๓ ใช้เงินที่อ้างว่าได้รับในโอกาสวันเกิดจากผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๔ และที่ ๕ จนเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลของบริษัทชินคอร์ปโดยได้ความจากนายอเนก พนาอภิชน ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงินและบัญชี ว่า ภายหลังปี ๒๕๔๐ บริษัทชินคอร์ปงดจ่ายเงินปันผล มาเริ่มจ่ายเงินปันผลในปี ๒๕๔๖ ปีละ ๒ งวด เงินปันผลงวดแรกเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ จากหุ้นที่โอนมาจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริช เป็นเงิน ๑๖๕,๑๒๗,๕๐๐ บาท ๑๖๕,๑๕๐,๐๐๐ บาท ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๑๕๑,๓๕๓,๐๖๗ บาท และ ๑๔๘,๑๔๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรก ผู้คัดค้านที่ ๔ และที่ ๕ ก็เริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ตามรายการชำระเงินค่าหุ้นเอกสารหมาย ค.๑๕๐ และ ค.๑๔๓ ตามลำดับ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๗๓,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยผู้คัดค้านที่ ๓ ใช้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทชินคอร์ปจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และผู้คัดค้านที่ ๓ ยังใช้เงินปันผลที่ได้รับมาจำนวน ๔๘๕,๘๒๙,๘๐๐ บาท ไปจ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ๕ บริษัท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่บริษัทวินมาร์ค จำกัด คืนมาจากบริษัทวินมาร์ค จำกัด สำหรับผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ก่อนที่จะได้รับเงินปันผลในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ก็เบิกความรับว่า นำเงินที่ได้จากการขายหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่รับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ ๑ มาชำระ และเมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ก็ยังทยอยโอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๑ จนถึงเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ปรากฏตามรายการชำระเงินเอกสารหมาย ค.๑๔๓ สำหรับผู้คัดค้านที่ ๔ ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม ๖ งวด เป็นเงิน ๙๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ ๒ จำนวน ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เลขานุการเขียนตัวเลขในเช็คผิดจึงแก้ไขไปจาก ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินปันผลงวดที่ ๒ ที่เหลืออีก ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คให้ผู้คัดค้านที่ ๓ เป็นการคืนเงินที่ฝากผู้คัดค้านที่ ๓ ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ ส่วนเงินปันผลงวดที่ ๓ ถึงที่ ๖ ได้สั่งจ่ายเช็ครวม ๔๔ ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท เช็คอีก ๔๒ ฉบับเป็นเช็คเบิกเงินสดรวม ๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอลและสระว่ายน้ำ ประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อทองคำแท่ง ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และสำรองไว้ที่บ้าน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ส่งเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่ผูเ คัดค้านที่ ๔ ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง ๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทมาแสดง ข้ออ้างของผู้ดค้านที่ ๔ จึงรับฟังไม่ได้ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ดังได้วินิจฉัยมาเป็นเหตุผลประการหนึ่งให้เชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ไว้แทน ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และรับเงินปันผลในหุ้นดังกล่าวจากบริษัทชินคอร์ปไว้แทนผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑
ส่วนข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๓ ว่า คตส. ดำเนินการสองมาตรฐาน นอกจากให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว กลับกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหายังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในหุ้นจำนวนเดียวกันเป็นคดีนี้อีก เห็นว่า การให้เรียกเก็บภาษีอากรจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากบริษัทแอมเพิลริชเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรอันเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุลคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนด นอกจากนี้มาตรา ๖๑ แห่งประมวลรัษฎากรก็บัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ว่า บุคคลใดมีชื่อในหนังสือสำคัญใด ๆ แสดงว่า (๑) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญและทรัพย์สินก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ (๒) เป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้ การดำเนินการทางภาษีอากรกับผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นการดำเนินการตามหลักการแห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติในคดี นี้เป็นการดำเนินการกับเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรับผิดทางภาษีอากร โดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับบริษัทแอมเพิลริชซึ่งมีสถานที่ติดต่ออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ได้รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระราคาแทนบริษัทแอมเพิลริช ในวันเดียวกัน ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เข้าเป็นกรรมการในบริษัทแอมเพิลริชร่วมกับนายเลา วี เตียง ซึ่งเป็นกรรมการอยู่เดิม และในวันดังกล่าวบริษัทแอมเพิลริชโดยนายเลา วี เตียงและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ในฐานะกรรมการบริษัทได้เปิดบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส เอจี ที่ประเทศสิงคโปร์ บัญชีเลขที่ ๑๑๙๔๔๙ โดยมีเงื่อนไขว่า "ผู้มีอำนาจเบิกถอนแต่ผู้เดียวคือ ดร.ที.ชินวัตร” จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนปรากฏว่านับตั้งแต่วันเปิดบัญชีจนถึงเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ก่อนที่บริษัทแอมเพิลริชจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปมีเงินโอนเข้าบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชหลายครั้งคิดเป็นเงินไทยประมาณ ๔,๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบว่า จำไม่ได้ว่าเป็นเงินของใครที่นำมาชำระค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทแอมเพิลริชไม่ได้ประกอบกิจการใดจึงไม่มีการทำบัญชี แต่ต่อมาบริษั ทแอมเพลริชได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปในปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๗ และงวดแรกของปี ๒๕๔๘ ในเดือนเมษายน ๒๕๔๘ รวม ๕ งวด รวมเป็นเงินมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วผู้ถูกกล่าวหาก็ยังเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินของบริษัทแอมเพิลริชแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริชเพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เป็นผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง ๔ ปีเศษ ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน ๑ ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเรียกเก็บค่าหุ้น ๑ หุ้น ทั้งที่การขายหุ้น ๑ หุ้น ดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซึ่งหุ้นของบริษัทชินคอร์ปจำนวนหุ้นในปี ๒๕๔๓ ถึงจำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น โดยชำระเงินเพียง ๑ ดอลล่าร์สหรัฐนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง
สำหรับบริษัทวินมาร์คนั้น คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้ชื่อผู้อื่นถือไว้แทนมีจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น แยกเป็นหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๒ รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ และบริษัทแอมเพิลริชรวม ๔๕๘,๕๕๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๓ รับโอนจากผู้คัดค้านที่ ๒ และบริษัทแอมเพิลริชรวม ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๔ รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ กับหุ้นที่รับโอนจากผู้คัดค้านที่ ๑ รวม ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น กับมีคำขอให้ริบเงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลตามหุ้นจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้นดังกล่าว ส่วนที่ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน กลต.รับฟังได้ว่า บริษัทวินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ นั้น จำนวนหุ้นที่บรรยายไว้ไม่รวมอยู่ในยอดรวมของหุ้นที่มีคำขอให้ริบคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยในคดีนี้ว่า บริษัทวินมาร์คเป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ หรือไม่
สำหรับการบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ปภายหลังจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า บริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงและมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เป็นกรรมการบริษัทชินคอร์ปจึงไม่จำเป็นต้องเข้าบริหารจัดการด้วยตนเอง แต่ได้มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนทุกครั้งนั้น ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ของบริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวม ๓๗,๘๗๙,๐๙๖,๓๑๘ บาท บริษัทประกอบธุรกิจโดยการเข้าไปลงทุนและมีส่วนร่วมในการบริหารในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม โดยในสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายบริษัทที่สำคัญได้แก่บริษัทเอไอเอสประกอบธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ ๙๐๐ เมกะเฮิรตซ์ โดยได้รับสัมปทานจาก ทศท. มีทุนจดทะเบียน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๒,๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๐.๕๐ บริษัทดีพีซีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดิจิตอล GSM ๑๘๐๐ โดยได้รับสัมปทานจาก กสท. มีทุนจดทะเบียน ๘,๖๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๘,๕๕๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๗.๕๕ เทเลคอมมาเลเซียถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๙.๙๙ ในสายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศบริษัทที่สำคัญได้แก่ บริษัทไทยคมประกอบธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทชินคอร์ปกับกระทรวงคมนาคมมีทุนจดทะเบียน ๕,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๔,๓๗๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ ๕๑.๕๓ ตามเอกสารสรุปการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปหมาย ค.๑๔๔ ปรากฏว่า หลังจากบริษัทชินคอร์ปเพิ่มทุนในปี ๒๕๔๒ และก่อนโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปยังบริษัทแอมเพิลริช กับผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น (ร้อยละ ๒๕) และ ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น (ร้อยละ ๒๓.๗๕) ตามลำดับ รวมกันเป็นสัดส่วนของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงร้อยละ ๔๘.๗๕ เมื่อรวมกับหุ้น จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๕ ใช้เงินจากบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๑ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีสิทธิออกเสียงรวมกันทั้งทางตรงและทางอ้อมเกินกว่ากึ่งหนึ่งของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง ถือเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ป รวมทั้งอำนาจในการแต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ของบริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า คณะกรรมการของบริษัทมีกรรมการ ๘ คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ๖ คน ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ได้รวมเป็นกรรมการด้วย ในคณะกรรมการทั้ง ๘ คน มี ผู้คัดค้านที่ ๕ ซึ่งเป็นประธานกรรมการเท่านั้ นที่ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป ส่วนรองประธานกรรมการและกรรมการอีก ๖ คน ไม่มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป แสดงว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ปผ่านทางคณะกรรมการที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ แต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการไว้ ในปี ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ของบริษัทชินคอร์ปก็ปรากฏรายชื่อคณะกรรมการของบริษัท ๙ คน โดยกรรมการในปี ๒๕๔๓ พ้นจากตำแหน่ง ๑ คน แต่งตั้งใหม่ในปี ๒๕๔๔ อีก ๒ คน กรรมการที่แต่งตั้งใหม่มีผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปคนเดียวคือนายนิวัฒน์ บุญทรง โดยถือหุ้นในสัดส่วนเพียงร้อยละ ๐.๐๐๔๗ แสดงว่าการควบคุมนโยบายและการดำาเนินงานของบริษัทชินคอร์ปยังคงอยู่ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านทางคณะกรรมการของบริษัทซึ่งเป็นผู้รับนโยบายตลอดมา ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๙ ของบริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า บริษัทชินคอร์ปมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ เช่น ปี ๒๕๔๔ ได้จัดโครงสร้างการถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมไร้สายโดยการซื้อหุ้นให้บริษัทเอไอเอสเข้าถือหุ้นในบริษัทดีพีซีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙๘.๑๗ บริษัท ชินคอร์ปซื้อหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด เพิ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ปเพิ่มเป็นร้อยละ ๗๗.๔๘ ปี ๒๕๔๕ บริษัทไอทีวี จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยออกหุ้นสามัญขายให้นักลงทุนทั่วไป และบริษัทชินคอร์ปนำหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) บางส่วนออกขาย ทำให้สัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือร้อยละ ๕๕.๕๓ ปี ๒๕๔๖ บริษัทชินคอร์ปร่วมกับบริษัทแอร์เอเชีย จำกัด จากประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ ๕๐ และ ๔๙ ตามลำดับ และร่วมกับธนาคารดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งบริษัทแคปปิตอลโอเค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ และ ๔๐ ตามลำดับ ปี ๒๕๔๘ บริษัทไทยคมเพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยรวม ๒๐๘,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๕.๓๐ บาท ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมลดลงเหลือร้อยละ ๔๑.๓๔ การจัดโครงสร้างการถื อหุ้น การซื้อหุ้นเพิ่ม และการลงทุนในธุรกิจใหม่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงย่อมไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมการซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในความเสี่ยงนั้นด้วย ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดว่าได้ร่วมบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ปในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนมาก การที่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทชินคอร์ป ประจำปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๔๘ ปีละครั้ง ตามเอกสารหมาย ค.๒๘ ไม่เป็นข้อสนับสนุนว่าผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนการรวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ เบิกความว่า ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กด้วยตนเองในฐานะเจ้าของหุ้น โดยผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ ตัวแทนของกลุ่มเทสาเส็กมาติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากกลุ่มชินวัตรและดามาพงศ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อจะมีอำนาจบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ ๕ ตัดสินใจจะขาย จึงแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ทราบ และแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๔ ทราบเมื่อกลางเดือนมกราคม ๒๕๔๙ เหตุที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ต้องการขายหุ้นเพราะอายุมากแล้ว การบริหารงานในบริษัทชินคอร์ปต่อไปจะลำบากเพราะจะต้องลงทุนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ๓G เกือบแสนล้านบาทนั้น เห็นว่า ตามเอกสารสรุปการโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปหมาย ค.๑๔๔ ปรากฏว่า กลุ่มดามาพงศ์มีผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ร้อยละ ๑๓.๗๗ ส่วนผู้คัดค้านที่ ๖ ถือหุ้นอยู่เพียง ๑๕๙,๖๐๐ หุ้น หากกลุ่มเทมาเส็กต้องการซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปเพื่อจะมีอำนาจบริหารจัดการบริษัทก็น่าที่ต้องติดต่อซื้อจากกลุ่มชินวัตรซึ่งผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ถือหุ้นอยู่รวมกันถึงร้อยละ ๓๕.๔๔ การลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ๓G ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานประจำปี ๒๕๔๖ ของบริษัทชินคอร์ปในสายธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายว่า บริษัทเอไอเอสมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล GSM ในปัจจุบันเพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับกับเทคโนโลยี ๓G โดยการปรับปรุงระบบชุมสายและระบบสื่อสัญญาณเดิมที่มีอยู่ และรายงานประจำปี ๒๕๔๘ ของบริษัทชินคอร์ปเรื่องแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี ๒๕๔๙ ว่า บริษัทเอไอเอสเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ ๓ หรือ ๓G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งบริษัทเอไอเอสมีความสนใจและความพร้อมทั้งในด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาไปสู่การให้บริการ ๓G ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย ข้ออ้างในการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงรับฟังไม่ได้ ทั้งในข้อเท็จจริงเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนยันไว้ในเอกสารท้ายคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาหมาย ค.๓๒ แผ่นที่ ๔๒๘ ถึง ๔๓๐ เรื่อง "ขายหุ้น ชินคอร์ป ไม่ได้ขายชาติ ไม่ได้ขายดาวเทียม" ว่า "ในส่วนหุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีการเตรียมการขายหุ้นและการเจรจาขายหุ้นต่อเนื่องมานานนับปี และมีกลุ่มผู้สนใจเสนอซื้อหุ้นหลายราย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขายในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙" เป็นพิรุธว่า ผู้ที่เจรจาและตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กคือผู้ถูกกล่าวหา มิใช่ผู้คัดค้านที่ ๕ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ตามคำร้องในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ