คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๑๕

กรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุน กิจการดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และกิจการของครอบครัวของผู้ถูกกล่าวหา สำหรับในปัญหานี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบและตามคำร้องของผู้ร้องอยู่ ๓ กรณีด้วยกัน กล่าวคือ กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ (iPSTAR) กรณีอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เรื่อง การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจากที่จะต้องถือครองหุ้นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๔๐ และกรณีอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม ๓ เกิดความเสียหายจำนวน ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช้าช้องสัญญาณต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศนี้เป็นโครงการของประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์หลักจะให้มีดาวเทียมสื่อสารเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบราชการแล้วมีการตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้นมารับงานส่วนนี้จากกระทรวงคมนาคมในเวลาต่อมา โดยมีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ได้รับสัมปทานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทชินคอร์ปที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๔๔๙ ตามสัญญาดังกล่าวได้ระบุรายละเอียดไว้ในบทนำว่า สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ ณ กระทรวงคมนาคม โดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "กระทรวง" ฝ่ายหนึ่ง กับ บริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า "บริษัท" อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศเรื่อง ข้อกำหนดในการทำข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๑ ให้ภาคเอกชนที่สนใจยื่นเสนอแสดงความจำนงที่จะขอรับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และบริษัทเป็นผู้หนึ่งที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวง และโดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าวข้างต้นเป็นโครงการของประเทศ ซึ่งเมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทแล้ว และดาวเทียมที่บริษัทจัดส่งขึ้นไปตลอดจนสถานีภาคพื้นดินที่บริษัทสร้างขึ้นจะต้องตกเป็นของรัฐทันที และโดยที่กระทรวงได้พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอของบริษัทเป็นข้อเนอซึ่งเป็นที่พอใจของกระทรวง ดังนั้น กระทรวงโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงได้คัดเลือกและตกลงให้บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการนี้ และตามข้อสัญญา ข้อ ๑ สิทธิให้บริการวงจรดาวเทียม กระทรวงตกลงให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม (Transponder) เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "วงจรดาวเทียม" และมีสิทธิเก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้วงจรดาวเทียม ทั้งนี้ ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญานี้ ข้อ ๒ ระยะเวลาดำเนินกิจการและการคุ้มครองสิทธิ กระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิในการดำเนินกิจการในข้อ ๑ มีกำหนดสามสิบ (๓๐) ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "อายุสัญญา" และกระทรวงตกลงจะคุ้มครองสิทธิในการดำเนินกิจการและให้บริการวงจรดาวเทียมของบริษัทไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาดำเนินการกิจการแข่งขัน และจัดให้ผู้ใช้บริการวงจรดาวเทียมและสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินใช้วงจรดาวเทียมมีกำหนดระยะเวลาแปด (๘) ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา หากพ้นกำหนดระยะเวลาแปด (๘) ปี ดังกล่าวแล้ว การคุ้มครองสิทธิของบริษัทเป็นอันหมดไป ข้อ ๕ การดำเนินงานและแผนการดำเนินงาน ๕.๑ บริษัทตกลง ๕.๑.๑ จัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่หนึ่งขึ้นสู่วงโคจร (Orbital Position) ของกระทรวงตามที่กำหนดในข้อ ๑๒ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "ตำแหน่งวงโคจร" พร้อมกับจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรอง (Back up) ในลักษณะดาวเทียมภาคพื้นดิน (Ground Back up) รวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่สองและดวงต่อ ๆ ไปขึ้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อน ๕.๑.๔ จัดส่งดาวเทียมสำรองตามข้อ ๕.๑.๑ ขึ้นอยู่ในตำแหน่งวงโคจร (In-Orbit Back up) หลังจากดาวเทียมดวงแรกเริ่มให้บริการแล้วไม่เกินสิบสอง (๑๒) เดือน ข้อ ๖ คุณสมบัติของดาวเทียม รายละเอียดคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียม (Satellite Technical Specification) ทุกดวงที่บริษัทสร้างและจัดส่งตามสัญญานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงก่อน และอุปกรณ์ทั้งหมดของดาวเทียมจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี ทั้งนี้ คุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไปจะต้องมีคุณสมบัติการใช้งานไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งตามที่กำหนดในข้อ ๗ แต่จำนวนวงจรดาวเทียมและชนิดย่านความถี่ (C-Band หรือ Ku-Band) ตามข้อ ๗.๑.๑ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงและบริษัทจะตกลงกัน และบริษัทรับรองว่าดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองของบริษัททุกดวงจะไม่ทำ Inclined Orbit เว้นแต่ดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองซึ่งมิได้ใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองแล้ว แต่ยังสามารถให้บริการวงจรดาวเทียมได้ ข้อ ๗.๒ ดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่ง คุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งอย่างน้อยจะต้องไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักดวงที่หนึ่งและทดแทนดาวเทียมหลักดวงที่หนึ่งเพื่อให้ใช้งานต่อเนื่อง ข้อ ๑๓ การนำวงจรดาวเทียมไปให้ประเทศอื่นใช้ บริษัทรับที่จะให้โอกาสเท่าเทียมกันในการขอใช้วงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกราย และในกรณีที่มีวงจรเหลือจากปริมาณการใช้ในประเทศ บริษัทด้วยความเห็นชอบของกระทรวงสามารถนำวงจรดาวเทียมที่เหลือไปให้ประเทศอื่นใช้ได้ ข้อ ๑๕ การโอนกรรมสิทธิ์ การส่งมอบและรับมอบทรัพย์สิน บริษัทยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่บริษัทจัดตั้งตามสัญญานี้ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงในวันที่ผ่านการทดสอบใช้งานจากทั้งสองฝ่ายหลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมรวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามข้อ ๕ หลังจากบริษัทจัดตั้งและได้ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้บริษัทครอบครองเพื่อใช้ในการดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาฉบับนี้ อุปกรณ์ที่บริษัทจัดหามาภายหลังการส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคแรกเพื่อใช้เกี่ยวกับการให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่เป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทั้งนี้ บริษัทยอมให้อุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบให้บริษัทครอบครองไว้เพื่อใช้ดำเนินกิจการเช่นเดียวกับวรรคแรก และข้อ ๒๗ การใช้วงจรดาวเทียมโดยไม่เสียค่าตอบแทน บริษัทตกลงให้กระทรวงหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบใช้วงจรดาวเทียมแบบ Non Pre-emptible Transponder ของดาวเทียมที่บริษัทจัดตั้งขึ้นซึ่งใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองในย่านความถี่ C-Band จำนวนหนึ่ง (๑) วงจรดาวเทียม (Transponder) ตลอดอายุสัญญานี้ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ แก่บริษั ท ทั้งนี้ กระทรวง ส่วนราชการ หรือหน่วยงานดังกล่าวจะไม่นำวงจรดาวเทียมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งไม่ปรากฏว่ากระทรวง ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบมีสิทธิที่จะใช้ในย่านความถี่ KU-Band ซึ่งได้ระบุไว้ในข้อ ๖ ในเรื่องคุณสมบัติของดาวเทียมด้วย นอกจากข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว ในส่วนของข้อเท็จจริงสำหรับกรณีการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้ส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศเพื่อให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ นั้น ในการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้จัดสร้างและจัดส่ง โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน ปรากฏว่า วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๖ ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๑ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๗ ได้จัดส่งดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๒ และวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๐ ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๔๔๒ แล้วกระทรวงคมนาคมซึ่งดูแลโครงการดาวเทียมอยู่ในขณะนั้นได้อนุมัติให้มีการจัดสร้างดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ที่จะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศต่อไป คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องจัดส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นบริษัทผู้รับสัมปทานได้ขอเลื่อนกำหนดหลายครั้ง ซึ่งต่อมาบริษัทผู้รับสัมปทานก็ได้ขอแก้ข้อกำหนดทางด้านเทคนิค โดยขอเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็ได้มีการจัดส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศในวงโคจรเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๔๔๒ ร. ๔๔๓ ร. ๕๑๐ ร. ๕๑๙ ร. ๕๒๑ ร. ๕๒๒ และ ร. ๕๑๘ ในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าว ตามข้อกำหนดประกาศแข่งขันสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศไว้อย่างชัดเจน และกำหนดให้มีดาวเทียมหลักและระบบดาวเทียมสำรอง แต้ในส้วนของระบบดาวเทียมสำรองนั้นมิได้มีการระบุถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นระบบเช่าหรือสร้างอยู่ที่พื้นโลกหรือส่งขึ้นบนอวกาศปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๔๙๐ ถึง ร. ๔๙๒ ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่ยังมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะประธานบริษัทชินคอร์ปในขณะนั้น ได้เข้าร่วมแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่น ๆ และเสนอเงื่อนไขดีที่สุด กระทรวงคมนาคมจึงเชิญเข้าร่วมเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นดาวเทียมสำรอง ซึ่งข้อเสนอเดิมในการยื่นแข่งขันเพื่อรับสัมปทานระยะเวลา ๓๐ ปี นั้น บางช่วงจะเป็นระบบเช่า โดยเช่าจากดาวเทียมประเทศอื่นเพื่อเป็นระบบสำรอง บางช่วงจะมีการสร้างไว้ที่ภาคพื้นดิน และอีกบางช่วงจะสร้างและส่งขึ้นสู่อวกาศ แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมเจรจาด้วยตนเองในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอครั้งที่ ๙/๒๕๓๓ ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๓ ได้มีการเสนอเพิ่มเติมว่าจะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุ สัญญา ๓๐ ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศระยะเวลาห่างจากดาวเทียมดวงหลักไม่เกิน ๑๒ เดือน ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร. ๔๗๔ ซึ่งต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือที่ ชว.๐๐๑/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๔ และ ที่ ชว. ๔๓๙/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔ เอกสารหมาย ร.๔๗๓ และ ร. ๔๖๐ ตามลำดับ ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อเสนอดังกล่าวนั้นเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานและมีการลงนามในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยได้ระบุ เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงาน คุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง และการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมก่อน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ของสัญญาสัมปทาน ส่วนการที่จะนำวงจรดาวเทียมที่เหลือใช้จากในประเทศไปให้ต่างประเทศใช้บริการต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๓ ของสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาหลักซึ่งจะมีเอกสารต่าง ๆ แนบท้ายไว้ โดยเฉพาะแผนดำเนินการนั้นได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามระยะเวลาสัญญา ๓๐ ปี จะส่งดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง จำนวน ๒ ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม ๒ ดวง รวมมีดาวเทียมทั้งหมด ๔ ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศมีระยะเวลาห่างจากการส่งดาวเทียมหลักไม่เกินกำหนด ๑๒ เดือน สำหรับการที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์นั้นก็ได้ร้องขอโดยให้เป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ปรากฏตามหนังสือที่ ช.ซ. (ส) ๐๑๐ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม ๓ กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาข้อมูลทางเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์ กรมไปรษณีย์โทรเลขเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักดวงใหม่ซึ่งไม่ใช้ดาวเทียมสำรองที่จะจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม ๔ แต่อย่างใด ปรากฏตามหนังสือที่ คค ๐๗๐๔ (ปว.)/๑๔๒๒๑ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ เอกสารหมาย ร. ๕๑๔ เมื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่แต่งตั้งขึ้นตามสัญญาสัมปทานในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร. ๕๑๓ ที่ประชุมได้มีมติว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กั นยายน ๒๕๔๕ ปรากฏตามรายงานการประชุมว่ามีการขอแก้ไขมติครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ข้างต้น เป็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักหรือสำรอง มิ ใช่ประเด็นหลัก แต่ต้องมีการทำแผนสำรอง และคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์นั้นไม่ด้อยไปกว่าดาวเทียมดวงอื่นและเป็นไปตามสัญญาแล้ว ซึ่งเท่ากับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองได้ตามที่บริษัทผู้รับสัมปทานร้องขอ และให้เสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๑๕ ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการประสานงาน ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ครั้นเมื่อมีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีวาการกระทรวงคมนาคมตามหนังสือที่ คค ๐๒๐๘/สนผ.๑๘๖๓ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้มีการอนุมัติ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๐๙ ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานใช้วิธีทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงาน ปรากฏตามหนังสือที่ คค ๐๒๐๘/ว.๗๓๘๖ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ โดยเป็นการให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ด้วย และกำหนดไว้ว่า ขอให้แก้ไขภายในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ โดยมิได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อลงมติ พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันนั้นกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแจ้งบริษัทไทยคม ว่าได้อนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ปรากฏตามหนังสือที่ คค ๐๒๐๘.๔/๗๓๗๙ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เอกสารหมาย ร. ๕๑๐ เห็นว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏถึงพฤติการณ์ในการกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่งซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย ทั้งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ บริษัทผู้รับสัมปทานรายนี้ก็ยังได้นำโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์มูลค่า ๑๖,๕๔๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้พิจารณา โดยบริษัทผู้รับสัมปทานได้แนบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งระบุว่าได้มีการพัฒนาดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นครั้งแรกของโลก และได้มีการสร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมกับภาคพื้นดินสำหรับระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศต่าง ๆ ๑๘ แห่ง มากกว่า ๑๔ ประเทศ โดยมีในประเทศไทย ๑ แห่ง และมีแผนการตลาดที่จะจำหน่ายในประเทศเพียงร้อยละ ๖ แต่จะจำหน่ายในต่างประเทศมีปริมาณที่สูงถึงร้อยละ ๙๔ ต่อมาวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ บริษัทผู้รับสัมปทานได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ดังนั้น จากข้อเสนอของผู้ถูกกล่าวหาเองก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนบริษัทชินคอร์ปที่ยื่นแข่งขันเพื่อเข้ารับสัมปทาน รวมทั้งเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้รับสัมปทานด้วยวาจาและทำหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นตลอดอายุสัญญา และจะส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่วงโคจรเพื่อเป็นการสำรองดาวเทียมดวงหลักและมีระยะเวลาห่างจากดวงแรกไม่เกิน ๑๒ เดือน อยู่คู่กันเพื่อให้ใช้งานได้โดยต่อเนื่อง จึงได้ระบุระบบดาวเทียมสำรองไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ ๕.๑.๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ ซี-แบน (C-band) จำนวน ๒๕ Transponder และ เคยู-แบน (Ku-band) ๑๔ Transponder โดยเฉพาะข้อ ๒๗ ได้ระบุให้กระทรวงคมนาคม หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบใช้วงจรดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองเฉพาะแต่ในย่านความถี่ ซี-แบน จำนวน ๑ วงจรดาวเทียม ได้ตลอดอายุสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์มีคุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกตามที่จดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ย่านความถี่ เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอร์ตบีม ๘๔ บีม เชพบีม ๓ บีม และบรอดคาสต์บีม ๗ บีม และใช้ย่านความถี่ เคเอ-แบน ในการสื่อสารรับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีย่านความถี่ ซี–แบน ที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้ จำนวน ๑ วงจรดาวเทียม ได้ตลอดอายุสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และไม่มีข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อทดแทน ทั้งที่ดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ ซี–แบน และ เคยู-แบน จึงเห็นว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ดวงต่อดวงได้ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ปรากฏว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขได้พิจารณาคุณสมบัติ ดาวเทียมไอพีสตาร์แล้วเห็นว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ตามหนังสือ ที่ คค ๐๗๐๔ (ปว.)/๑๔๒๒๑ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ หากดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่บริษัทไทยคมก็จะต้องจัดสร้างดาวเทียมสำรองดาวเทียมไอพีสตาร์ อีก ๑ ดวง ตามสัญญาสัมปทานข้อ ๕.๑.๑ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์อีก ๑ ดวง ประกอบกับในคราวพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ของคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ มีการลงมติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมโดยอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ จึงขัดแย้งกั น ต่อมาได้มีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เจ้าหน้าที่เสนอเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยปรากฏว่าในภายหลังได้มี การจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการประสานงานแต่ละคนรับรองรายงานการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เช่นนี้เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหายจากการที่ไม่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ทั้งดวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทาน คือ บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน โดยการกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นมูลค่าถึง ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างดาวเทียมไทยคม ๓ ตามเอกสารการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน และในทางกลับกันภาครัฐก็ต้องเสียหายจากการที่ไม่ได้รับมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทาน คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เช่นกัน นอกจากนี้ การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นโครงการที่ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลักดังที่ปรากฏจากคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ยื่นประกอบการยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๐๑ ที่ได้ระบุถึงแหล่งหารายได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ โดยได้มีการลงทุนสร้างอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Gateway) ในประเทศต่าง ๆ ๑๘ แห่ง รวมกว่า ๑๔ ประเทศ โดยสร้างไว้ในประเทศไทยเพียง ๑ แห่ง เท่านั้น ส่วนแผนการจำหน้ายระบุไว้ว่าการจำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ แต่จำหน่ายในประเทศเพียงอัตราร้อยละ ๖ จึงเห็นได้ว่า ส่วนที่จำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ ดังกล่าวนั้นมิใช่ส่วนที่เหลือใช้จากอัตราร้อยละ ๖ ที่ใช้ในประเทศตามข้อสัญญาสัมปทาน โดยส่วนที่ใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากส่วนที่ใช้ในประเทศ ดังนั้น ดาวเทียมไอพีสตาร์จึงเป็นดาวเทียมหลักที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก มิได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบแห่งสัญญาที่ว้าจะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศและหากเหลือใช้จึงจะให้ต่างประเทศใช้บริการได้ ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขข้อกำหนดการเข้ารับสัมปทาน ซึ่งได้ระบุไว้ในบทนำและข้อ ๑๓ ของสัญญาสัมปทาน ทั้งพ้นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิผูกขาดที่กระทรวงคมนาคมผู้ให้สัมปทานจะไม่ให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขันกับบริษัทผู้รับสัมปทานมีกำหนดระยเวลา ๘ ปี ตามสัญญา ข้อ ๒ จึงต้องถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรมทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นการที่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมได้ร้องขอและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ว่าอยู่ในกรอบสัญญาสัมปทาน จึงเป็นการอนุมัติให้บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหาได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันกัน ซึ่งหากมีการขอรับสัมปทานโดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม โดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มีโอกาสยื่นข้อเสนอเพื่อแข่งขันกันก็จะมีมูลค่าโครงการเป็นเงินถึงจำนวน ๑๖,๕๔๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท เป็นรายได้เข้ารัฐ ดังนั้น ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๖ ได้อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๙๘ การอนุมัติให้แก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ โดยอนุมัติให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม