คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๑๗

สําหรับกรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ จํานวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์หรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศเมื่อดาวเทียม ไทยคม ๓ เกิดเสียหายนั้น ปรากฏตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร. ๔๔๙ ข้อ ๒๕ การประกันภัยทรัพย์สินตลอดระยะเวลาที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ ซึ่งข้อ ๒๕.๑ บริษัทต้องเอาประกันภัยประเภทคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดต่อทรัพย์สินในข้อ ๕ และทรัพย์สินที่เพิ่มเติมตามข้อ ๑๕ ที่บริษัทโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงแล้วเต็มมูลค่าของทรัพย์สินนั้น ๆ โดยเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยและเงื่อนไขการประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจดาวเทียมในลักษณะเดียวกันใช้อยู่ โดยให้กระทรวงเป็นผู้รับประโยชน์ร่วม และบริษัทเป็นผู้ชําระเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ข้อ ๒๕.๒ ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยตามวรรคแรกหรือที่เพิ่มเติมให้กระทรวงภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่บริษัทเอาประกันภัยในแต่ละปีหรือวันที่เอาประกันเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ กระทรวงยินยอมให้บริษัทเป็นผู้เจรจาต่อรองค่าเสียหายและความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวโดยความเห็นชอบของกระทรวง และบริษัทจะต้องแจ้งผลการเจรจาให้กระทรวงทราบเป็นระยะโดยทันที และข้อ ๓๗ การจัดการทรัพย์สินที่สูญหายและเสียหายหรือสูญหาย เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามข้อ ๕ หรือข้อ ๑๕ หรือทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายไป บริษัทจะต้องรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที เพื่อให้การดําเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงจะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยตามข้อ ๒๕ ให้บริษัท และถ้าค่าซ่อมแซมหรือ ราคาทรัพย์สินที่จัดหามีราคาสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทตกลงเป็นผู้รับผิดชอบเงินจํานวนที่เพิ่มขึ้นนั้นทั้งหมด วรรคสอง ในกรณีจัดหาทรัพย์สินทดแทน ให้นําความในข้อ ๑๕ ในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์และการส่งมอบรับมอบทรัพย์สินมาใช้บังคับในกรณีนี้ด้วย และวรรคสาม การจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าวในวรรคแรก บริษัทต้องจัดหาทรัพย์สินทดแทนให้สามารถดําเนินการตามสัญญาได้โดยต่อเนื่อง แม้บริษัทจะพิจารณาเห็นว่าการลงทุนจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าว ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดําเนินงานตามสัญญาที่เหลืออยู่จะไม่คุ้มกับการลงทุนก็ตาม ซึ่งบริษัทอาจเสนอขอให้กระทรวงพิจารณาขยายเวลาสัญญาออกไป นอกจากข้อสัญญาที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในส่วนข้อเท็จจริงนั้นก็ปรากฏว่า ในคราวที่บริษัทไทยคมได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสํารองเช่นเดิม และได้รับการอนุมัติในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งมีกําหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๗ นั้น ก็ได้มีการอนุมัติแผนสํารองของดาวเทียมไทยคม ๓ ด้วย หากเกิดกรณีเสียหาย ครั้นในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ได้เกิดเหตุดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงานบางส่วน ต่อมาบริษัทไทยคมได้เจรจากับบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีบางส่วนใช้งานได้ และได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้วได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจํานวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทไทยคมได้ขออนุมัติสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ปรากฏตามหนังสือ ที่ ชซ(ส) ๐๖๕/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ และต่อมาได้ร้องขออนุมัตินําเงินประมาณ ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสํารอง ปรากฏตามหนังสือ ที่ ชซ(ส)๗๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติให้บริษัทไทยคมนําเงินค่าสินไหมทดแทน จํานวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศเพื่อทดแทนและสํารอง และอีกส่วนจํานวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนชื่อว่า ดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R โดยหากค่าสร้างสูงกว่าให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติในเรื่องดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือ ที่ อช ๔๐๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ ต่อมาบริษัทไทยคมแจ้งว่าจะได้รับเงินสินไหมทดแทน จํานวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องลงนามในหนังสือรีลิสแอนด์ดิสชาร์จ (Release&Discharge) เพื่อปลดภาระผูกพันให้แก่บริษัทประกันภัย และเปิดบัญชีเอสโคร แอคเคาท์ (Escrow Account) กับธนาคารที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อรับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐข้างต้น นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมร้องขอเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ปรากฏตามหนังสือ ที่ อช ๔๒๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมได้นําหลักฐานการสร้างดาวเทียมดวงใหม่มาเบิกใช้เงินจากบัญชีเอสโคร แอคเคาท์ เพื่อนําไปสร้างดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R จนกระทั่งส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ซึ่งค่าสร้างมากกว่าค่าสินไหมทดแทนจํานวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐนั้น บริษัทไทยคมได้นําหลักฐานไปเบิกใช้เงินดังกล่าวแต่ยังไม่หมด โดยในปัจจุบันยังมียอดเงินคงเหลือค้างอยู่ในบัญชีเอสโคร แอคเคาท์ ที่ประเทศสิงคโปร์ประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เห็นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ดาวเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร.๔๔๙ ข้อ ๓๗ ได้กําหนดให้บริษัทผู้รับสัมปทานรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันทีเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงผู้ให้สัมปทานก็จะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยให้ และถ้าค่าซ่อมแซมหรือราคาทรัพย์สินที่จัดหามีราคา สูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทผู้รับสัมปทานตกลงเป็นผู้รับผิดชอบจํานวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อสัญญาสัมปทาน ข้อ ๓๗ ดังกล่าว กรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ซึ่งกรณีนี้ก็คือดาวเทียมไทยคม ๓ ถ้าเกิดความเสียหายบางส่วน บริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องดําเนินการซ่อมแซม แล้วจึงมารับค่าสินไหมทดแทนจากทางกระทรวงผู้ให้สัมปทาน แต่ถ้าเกิดความเสียหายทั้งดวงจนไม่สามารถที่จะใช้งานหรือดําเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นทดแทน แล้วจึงรับเงินค่าสินไหมทดแทนจากทางกระทรวงผู้ให้สัมปทาน ทั้งนี้ หากค่าซ่อมแซมหรือราคาดาวเทียมดวงใหม่มีราคาสูงกว่าจํานวนเงินค่าสินไหมทดแทนทางบริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบในจํานวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่มีการอนุมัติให้บริษัทผู้รับสัมปทานนําวงเงินบางส่วน จํานวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับจากค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศ เพื่อใช้ทดแทนช่องสัญญาณเดิมและใช้เป็นสํารองจึงขัดตาอสัญญาสัมปทาน เนื่องจากบริษัทไทยคมทําผิดสัญญาไม่มีดาวเทียมสํารองไทยคม ๓ มาโดยตลอด และบริษัทไทยคม ผู้รับสัมปทานจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดําเนินการให้มีดาวเทียมใช้ได้อย่างพอเพียงและโดยต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสิทธินําเงินไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศ แต่ต้องนําเงินค่าสินไหมทั้งหมดจํานวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกํากับดูแล ควบคุม ตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมผู้รับสัมปทานร้องขอ การอนุมัติให้นําเงินบางส่วนที่ได้รับจากค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เกิดความเสียหายดังกล่าวไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนและใช้สำรอง จึงเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัทไทยคมไม่ต้องใช้เงินทุนของตนเอง หรือไม่ต้องระดมทุน โดยกู้ยืมเงินหรือดําเนินการเพิ่มทุนเพื่อดําเนินการซ่อมแซมดาวเทียมไทยคม ๓ หรือจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ตามสัญญาสัมปทาน แล้วยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงผู้ให้สัมปทาน ในทางกลับกันยังทําให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ เนื่องจากทรัพย์สินที่ทําประกันภัยเป็นของรัฐ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวรัฐจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแล และคงไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง หากเกิดกรณีไม่สามารถซ่อมแซมหรือจัดหาสินทรัพย์ทดแทนเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จเสียก่อน การที่บริษัทไทยคมซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงได้ประโยชน์จากการไม่ต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน หรือกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นสํารองดาวเทียมไทยคม ๓ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการไม่ต้องดําเนินกระบวนการรับสัมปทานใหม่จากโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่า ๑๖,๔๕๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดําเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ จากการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกําไรเป็นเวลา ๘ ปี มูลค่าไม่เกิน ๑๖,๔๕๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการไม่ต้องจัดสร้างดาวเทียมสำรองดาวเทียมไอพีสตาร์อีก ๑ ดวง จากการไม่ต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน หรือกู้ยืมเงินมาเพื่อรักษาสัดส่วนที่บริษัทชินคอร์ปจะต้องถือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทไทยคมโดยการแก้ไขสัญญา สัมปทาน (ครั้งที่ ๕) ให้คงเหลือสัดส่วนที่จะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ และจากการไม่ต้องซ่อมแซมหรือจัดหาดาวเทียมมาทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหาย ซึ่งเมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้วจะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทาน แต่ได้นําเงินค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงคมนาคมได้รับจากบริษัทประกันภัยไปใช้ในการเช่าดาวเทียมต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหาย จํานวนเงิน ๒๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งบริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมผู้ได้รับสัญญาดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจากรัฐโดยตรง และมีภาระต้องรับผิดร่วมกันและแทนกัน องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม