คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓/คำพิพากษา/๒

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้านว่า เงินปันผลและเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท ไม่ใช่เงินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ใช่เงินที่ได้จากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลในครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบธุรกิจโดยสุจริต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณหรือเงินอื่นใดของรัฐ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๘ ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะไว้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น รวม ๖๗,๕๗๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปเปลี่ยนแปลงเพิ่มทุน ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น รวม ๑๓๕,๑๔๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่า ๑๐,๐๐๐,๖๐๘,๔๙๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแอมเพิลริช ตามกฎหมายของประเทศบริติชเวอร์จินไอส์แลนด์ เพื่อรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป และวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชในราคาพาร์ ๑๐ บาท เป็นเงิน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยสุจริตและเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เป็นเงิน ๓๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และผู้คัดค้านที่ ๑ โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ กับโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ และเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ บุตรชายของผู้ถูกกล่าวหา หลังจากนั้นในปี ๒๕๔๙ บริษัทแอมเพิลริชโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น (ราคาพาร์ ๑ บาท) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และ ที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑ บาท ซึ่งได้กระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน มิได้ปกปิด ซ่อนเร้น อำพราง ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการของบริษัทชินคอร์ปอีก รวมทั้งไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ การโอนขายหุ้นมีเจตนาโอนกันอย่างแท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง การกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน ๒ ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เกินกว่า ๒ ปี ก่อนที่ คตส.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้เมื่อวันที่ ๓ มากราคม ๒๕๕๑ คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ให้เสร็จเด็ดขาดไปก่อน กลับส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลโดยรีบด่วนสรุปในคำร้องนี้กล่าวหาว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนของกฎหมาย ขัดแย้งกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ความเห็นของ คตส. ขัดแย้งกันเองเนื่องจาก คตส. ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ เท่ากับยอมรับว่าบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นบริษัทชินคอร์ป แต่เมื่อ คตส. ต้องการให้เงินที่ได้มาจากการขายหุ้นดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน กลับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คตส. ไม่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนใหม่เพื่อไต่สวนคดีนี้ กลับแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงข้อกล่าวหาในคดีอาญาเรื่องการตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาคนละเรื่องกัน ทำให้การไต่สวนของ คตส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยรู้อยู่แต่แรกว่าสำนวนการไต่สวนของ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์ ทั้งไม่อาจแจกแจงได้ว่าทรัพย์สินหรือหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควร ภาระการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จริงหรือไม่ตกอยู่กับผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องกรรมสิทธิ์ขัดแย้งกับเอกสารทางราชการ คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายว่าผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างไร และเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นั้นอย่างไร ทั้งไม่บรรยายให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการและมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองและพวกพ้องเมื่อใด อย่างไร และประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีความชัดเจนแน่นอนในรูปแบบใด มีจำนวนเท่าใด มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างอย่างไร เพียงใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างให้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาอย่างไร ก่อให้เกิดผลในการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของทรัพย์สินหรือมูลค่าหุ้นนั้นอย่างไร เพียงใด เป็นจำนวนเท่าใด โดยในแต่ละมาตรการทำให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้นผิดปกติจำนวนเท่าใด เมื่อใด อย่างไร มีพฤติการร่ำรวยผิดปกติอย่างไร หุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมด ๑,๔๘๗,๗๔๐,๑๒๐ หุ้น ที่ขายให้กลุ่มเทมาเส็กเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นหุ้นจำนวนเดิมที่บุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหามีอยู่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ในปี ๒๕๔๔ และราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามปกติของราคาตลาด มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละช่วงเวลาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา และมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕,๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ระบุการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้แต่อย่างใด โดยมูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์ถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก่อนผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ คิดเป็นเงิน ๓๑,๘๓๗,๖๓๘,๕๖๘ บาท หากหุ้นบริษัทชินคอร์ปยังเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จริงตามที่ถูกกล่าวหา แสดงว่าก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินอยู่แล้วเป็นเงิน ๔๖,๙๖๑,๖๓๘,๕๖๘ บาท ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องตามที่ผู้ร้องกล่าวหา รวม ๕ กรณี คือ

๑.   การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต

๒.   การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท เอไอเอส

๓.   การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอส

๔.   การละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม

๕.   การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคม

มาตรการต่าง ๆ เป็นการกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้เกิดจากการสั่งการหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่ได้มีการทำให้ราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้นหรือได้รับประโยชน์ใดๆ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา เงินปันผลจากหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท ไม่ได้เป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ แต่เป็นของบุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เงินปันผลดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน มติให้ยื่นคำร้องคดีนี้ของผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งประกาศ คปค. ฉบับที่ ๑๙ ก็ให้งดการบังคับใช้เฉพาะที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาเท่านั้น การกล่าวหาไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาลเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจหน้าที่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ที่กำหนดให้ คตส. มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น คำร้องไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เงินและทรัพย์สินส่วนที่ไม่ได้อายัดไว้ชั่วคราว จำนวน ๙,๘๕๘,๖๗๖,๐๓๖.๘๐ บาท ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนดคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๒๓ คำร้องส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๕๔๘,๕๑๙,๓๑๒.๒๗ บาท และเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๒,๘๕๒,๙๓๓,๙๓๑.๗๖ บาท ที่ คตส. อายัดไว้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ แล้ว การกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป หากจะเป็นความผิดก็เพียงมีโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ และ มาตรา ๑๒๒ ที่มีโทษทางอาญาและต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ เนื้อหาตามคำร้องเป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการกระทำละเมิด เป็นการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และมูลคดีเรื่องละเมิดและเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา